กปน. ร่วมมือ อจน. บูรณาการบริหารจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างยั่งยืน

วันพุธที่ 24 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานใหญ่ การประปานครหลวง (กปน.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือบูรณาการบริหารจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างยั่งยืน ระหว่าง การประปานครหลวง (กปน.) และองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) โดยมี นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน. นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน. นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. และ นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน. เป็นผู้ลงนามบันทึกความร่วมมือ และมีคณะผู้บริหารจาก กปน. และ อจน. ร่วมในพิธี เพื่อร่วมกันบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้บริการน้ำประปาให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบและการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะความชำนาญด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี หรืออื่น ๆ ตามความเหมาะสม และระบบประเมินผลคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SE-AM) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการให้บริการที่เป็นเลิศแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน

        นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับรากฐานการดำรงชีวิตของประชาชน จึงได้กำกับดูแลและมอบนโยบายให้ กปน. และ อจน. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการทั้งน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน

        ขณะที่ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน. กล่าวว่า กปน. มีภารกิจในการสำรวจ จัดหาน้ำดิบ เพื่อนำมาผลิตและให้บริการน้ำประปาที่สะอาด มีคุณภาพและเสถียรภาพแก่ประชาชน โดยยึดมั่นในการให้บริการอย่างมีมาตรฐาน มีธรรมาภิบาล และคำนึงถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกับ อจน. ในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสนับสนุนให้ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

        ด้าน นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน. กล่าวว่า อจน. ให้ความสำคัญการบริหารจัดการน้ำเสีย รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชน ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่ดี จะมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งความร่วมมือกับ กปน. จะก่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นทางการจัดการน้ำดี จนถึงปลายทางการจัดการน้ำเสีย ในการให้บริการน้ำประปาและบริหารจัดการน้ำเสียอย่างบูรณาการและยั่งยืนต่อไป

Related posts