ภายหลังสงครามโลกครั้งที่
2 นับแต่สังคมโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ประชากรโลก
ถูกหลอมรวมกัน อันเป็นผลมาจากอิทธิพลร่วมทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี
วัฒนธรรมและการเมือง การเปลี่ยนผ่านทางสังคมจากความเป็นรัฐชาติสู่โลกไร้พรมแดน
ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างนานาชาติเพื่อการพัฒนา ป้องกันและแก้ไข “ปัญหาร่วมสมัย” (Contemporary social problems) ซึ่งรวมถึงปัญหาอาชญากรรม
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา
(UN
Crime Congress) จัดขึ้นโดยสำนักคณะกรรมการว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ
(United
Nations Office on Drugs and Crime –
UNODC) ทุก ๆ 5 ปี ร่วมกับเจ้าภาพในประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้
สภาพปัญหา กำหนดทิศทาง
นโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา
สำหรับการประชุมสมัยที่
14 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ เมืองเกียวโต
ประเทศญี่ปุ่น จัดขึ้นโดยใช้แนวคิดการส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรมทางอาญา
ความยุติธรรมทางอาญา และหลักนิติธรรม
เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” (Advancing
crime prevention, criminal justices and the rule of law: towards the achievement of the 2030 Agenda) เพื่อผลักดันให้เกิด
ความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านอาชญากรรมอย่างเป็นรูปธรรม
และเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูสถานการณ์จากวิกฤตโควิด-19
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยหรือ
TIJ ในฐานะสถาบันเครือข่ายของสหประชาชาติด้านกระบวนการยุติธรรม
(United
Nations Programme Network Institute:
UN-PNI) ได้ร่วมการประชุม
เพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันระหว่างประเทศในการป้องกันความยุติธรรมทางอาญา
โดยครอบคลุมหลากหลายมิติ เช่น 10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ การใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชน
ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเพื่อการป้องกันอาชญากรรม ฯลฯ
แนวโน้มหลัก 4 ข้อ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของโลก
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยหรือTIJ ฉายภาพถึงข้อสรุปและแนวโน้มที่ได้จากงาน UN Crime Congress ว่า “ปฏิญญาเกียวโตว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรม (Kyoto declaration on Crime Prevention) เป็นเอกสารสำคัญที่บ่งชี้ถึงสถานการณ์และแนวโน้มของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของโลก ซึ่งจากที่ประชุมสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก
- การป้องกันอาชญากรรมโดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence–based crime prevention) ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ผ่านตัวชี้วัด สถิติ และการประเมินผลมาตรการป้องกันอาชญากรรมทางอย่างรอบด้านและเป็นระบบ เช่น การสร้างกลไกติดตามประเมินผลประสิทธิภาพของตำรวจผ่านตัวเลขการเกิดอาชญากรรมในพื้นที่นั้นว่าลดลงหรือไม่ ประชาชนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งยังมีความท้าทายในเชิงปฏิบัติ เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ
- กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเชิงบูรณาการ (Integrated
Criminal Justice System)
“การลงโทษ” เป็นกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้กระทำความผิดแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ๆ โดยครอบคลุมตั้งแต่โทษปรับและโทษจำคุก
แต่ในการประชุมครั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานด้านยุติธรรมทั่วโลกตั้งคำถามถึง “ประสิทธิภาพ” ของเครื่องมือในการลงโทษที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผ่านตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ “อัตราการกระทำผิดซ้ำ” (Recidivism rates) เพราะในหลายประเทศยังมีอัตราการกระทำความผิดซ้ำของผู้ที่ถูกลงโทษด้วยการจำคุกไปแล้วอยู่ในระดับสูง โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องกลับมาทบทวนว่า หากเป้าหมายของการลงโทษผู้กระทำความผิด คือ เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนในการจำกัดเสรีภาพไปด้วย แต่วิธีการลงโทษที่ใช้อยู่ กลับทำให้มีผู้กระทำความผิดซ้ำอยู่ในอัตราที่สูง เป็นแนวทางที่ได้ผลจริงหรือไม่
ดังนั้นที่ประชุม จึงมีความพยายามในการโน้มน้าวประเทศสมาชิกให้พิจารณาถึง “มาตรการทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การจำคุก” เพื่อสร้างกระบวนการที่มุ่งเน้น “ผลลัพธ์” คือ “คืนคนสู่สังคม” เช่น งานคุมประพฤติ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หรือการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic monitoring) เป็นต้น
“การจำคุกอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดในบางกรณี เช่น มีหลายคดีในประเทศไทย ที่เราใช้การจำคุกเพื่อลงโทษคนที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง ทั้งที่คนเหล่านี้ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้โดยใช้มาตรการคุมประพฤติเท่านั้น หรือผู้ใช้ยาเสพติดจำนวนมาก ก็ควรที่จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษามากกว่าการคุมขัง แต่เมื่อเราใช้วิธีส่งผู้กระทำความผิดเล็กน้อยเข้าไปอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงในเรือนจำ ก็อาจทำให้เขาไปเรียนรู้วิธีการกระทำความผิดเพิ่มมาจากในเรือนจำ และเมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว ก็ไม่ได้โอกาสจากสังคมในการประกอบอาชีพสุจริต เพราะมักจะมีข้อกำหนดว่าไม่รับผู้ที่เคยมีประวัติต้องโทษเข้าทำงาน ทำให้คนเหล่านั้น ใช้ความรู้ในด้านที่ไม่ดีซึ่งรู้มาจากในเรือนจำ ไปกระทำความซ้ำผิดซ้ำ จนต้องกลับมารับโทษอีก ดังนั้นการแสวงหาทางเลือกอื่นๆแทนการจำคุก และไม่กระทบต่อความปลอดภัยของสังคม จึงเป็นแนวโน้มสากลที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่ง TIJ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ศึกษามาตรฐานสากล ทำงานวิจัยเกี่ยวกับมาตรการทางลือกเหล่านี้ จึงเชื่อว่า จะสามารถช่วยงานในส่วนนี้ได้” ดร. พิเศษ อธิบาย
- การส่งเสริมหลักนิติธรรม (Rule
of Law)
ผ่านวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา (Culture of Lawfulness)
สังคมจะสงบสุขได้ จำเป็นต้องมีหลักนิติธรรมเป็นปัจจัยพื้นฐาน
และสังคมนิติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการบ่มเพาะ “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” (Culture of Lawfulness) แต่จะทำให้ประชาชนเชื่อถือและศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
หรือทำให้ประชาชนพึงพอใจกับกติกาที่รัฐใช้อยู่ได้
รัฐก็จะต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ใช้กติกาอยู่ใน “หลักนิติธรรม” ดังนั้น การจะทำให้สังคมมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง
ไม่สามารถทำได้โดยการเพิ่มอำนาจของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ต้องขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นควบคู่กันไปด้วย
และการให้ความรู้เรื่องหลักนิติธรรมกับเยาวชน เป็นหนึ่งในแนวทางจะช่วยสร้างสังคมในอนาคตที่มี
ความเข้มแข็ง
- การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบต่าง
ๆ (Transnational
Organized Crime) ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ทำให้รูปแบบอาชญากรรมมีลักษณะ
ข้ามพรมแดน ซับซ้อน และมีความรุนแรงมากขึ้น สวนทางกับ “ต้นทุนในการก่ออาชญากรรม” ที่ลดลง เพราะมีช่องทางออนไลน์ในการก่ออาชญากรรมได้ง่ายขึ้น ทำให้การต่อต้านอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะอาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นอาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบใหม่ ไร้พรมแดน ผู้ก่อเหตุและเหยื่ออาจอยู่ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร อยู่คนละประเทศซึ่งมีข้อจำกัดทางกฎหมายแตกต่างกัน ดังนั้น การต่อสู้กับอาชญากรรมรูปแบบใหม่นี้ จึงต้องรวมไปถึงความร่วมมือในหลายภาคส่วน
(Cross-Sectoral Collaboration) ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ
ยุติธรรมทางอาญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร. พิเศษ ยังเล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมประชุม UN
Crime Congress หลายครั้งที่ผ่านมา
ซึ่ง พบว่าในการประชุม 2 ครั้งก่อนหน้านี้ที่กรุงเทพ ฯ และกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์
มีพัฒนาการที่แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งด้านองค์ประกอบของผู้ร่วมประชุมที่ขยายใหญ่ขึ้น จากเดิมที่ส่วนมากเป็นหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่าง
ๆ ตำรวจ ศาล ราชทัณฑ์ ก็ขยายมาสู่หน่วยงานภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ
เข้ามามีบทบาทในการประชุม โดยเชื่อว่ามีเหตุผลมาจากการที่ประเด็นในการหารือถูกขยายไปในบริบทที่”กว้างขวางขึ้น”
ไปสอดคล้องกับวาระหลักของโลก นั่นคือ
“การพัฒนาที่ยั่งยืน”
“ในอดีตกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความเป็นเอกเทศสูง
ใช้วิชาการนำ ผลักดันผ่าน
ความร่วมมือเท่าที่เป็นไปได้ เช่น การส่งผู้ร้ายความแดน แต่ในการประชุม ฯ UN
Crime Congress หลายครั้งที่ผ่านมามีทิศทางที่สอดคล้องกับวาระหลักของโลกมากขึ้น
โดยผลักดันให้หลักนิติธรรมเข้ามามีบทบาทกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งยังเป็นการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ดร. พิเศษ กล่าว
ผู้อำนวยการ TIJ
ยังเห็นว่า ประเด็น “การใช้กีฬา เพื่อป้องกันอาชญากรรมในเยาวชน” ถือเป็นอีกประเด็นที่สะท้อนถึงความหลากหลายในที่ประชุม
Crime Congress โดย TIJ
เป็นอีกหน่วยงานที่สนับสนุนงาน
ด้านเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด และเป็นผู้เสนอ “ข้อมติการใช้กีฬาเพื่อการป้องกันอาชญากรรมในเยาวชน”
ในเวทีการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและ
ความยุติธรรมทางอาญา ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อปี พ.ศ.2562 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกีฬาต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
“เราเชื่อว่า กีฬาเป็นสื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเยาวชน พร้อมไปกับการสอดแทรกทักษะการใช้ชีวิต สามารถนำมาปรับใช้เพื่อลดโอกาสที่เด็กและเยาวชนจะไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้ แม้แต่เด็กที่เคยกระทำผิด กีฬาก็เป็นตัวขับเคลื่อนให้ชีวิตเค้าไปต่อได้ ยกตัวอย่างที่เรามีสโมสรกีฬา BBG (Bonce Be Good) ซึ่งให้โอกาสเด็กในสถานพินิจไปฝึกซ้อมปิงปองและแบดมินตันอย่างเป็นระบบ มีผู้ฝึกสอนมืออาชีพ ให้การดูแลฟูมฟัก ถือเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเด็กเหล่านี้กลายเป็นนักกีฬา เป็นโค้ช หรือเป็นผู้ตัดสินมืออาชีพ นั่นคือการช่วยเหลือเขาแบบตลอดรอดฝั่ง”
นอกจากนี้ที่ประชุม ฯ ยังให้ความสำคัญกับ ‘ผลลัพธ์’
ของการประชุมฯ ที่อยู่ในรูปแบบ ‘ข้อกำหนด’ ที่มีลักษณะเป็นกฎหมายอย่างอ่อนหรือ Soft
Law มากขึ้น เช่น
ผลลัพธ์จากการผลักดันการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ
โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขเฉพาะกลุ่ม เช่น
กลุ่มคนเปราะบาง ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่ง Soft
Law เหล่านี้ล้วนมีส่วนส่งเสริม และผลักดันให้บรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
อนาคตยุติธรรมทางอาญาของไทย
ดร. พิเศษ กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐในประเทศไทย มีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เป็นองค์รวมมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาประเด็นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินงาน นอกจากนี้ยังเน้นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ กล่าวโดยสรุป อนาคตยุติธรรมทางอาญาของไทย จะเน้นดำเนินงาน ดังนี้
- การทำงานเพื่อป้องกันอาชญากรรม เน้นการดำเนินงานแบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น
- เน้นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น การดึงภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานวิชาการ เพื่อประชุม หารือ แลกเปลี่ยน กำหนดแนวนโยบายที่เหมาะสมในการป้องกัน และ แก้ไขอาชญากรรม รวมถึงการสนับสนุนการวิจ้ย
- เน้นความตระหนักให้เกิดแนวปฏิบัติต่อเพศสภาพด้วยความเท่าเทียม
เช่น การสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ ๆ ต่อการดูแลผู้ต้องขังหญิง หรือ
เด็กติดผู้ต้องขังหญิง โดยการสร้างสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำให้เหมาะสม และ
การสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางเลือกอื่นๆ แทนการจำคุกในกรณี
ผู้กระทำผิดกระทำความผิดในคดีเล็กน้อย - เน้นเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ
เช่น
การจำหน่ายสินค้าราชทัณฑ์ ผ่านร้านค้าออนไลน์ใน shopee โดยใช้ตราสินค้า “วันสุข” - เน้นการดำเนินงานผ่านความร่วมมือพหุภาคี เช่น โครงการกำลังใจ โครงการ Street food สร้างโอกาส ฝึกฝนการทำอาหารให้แก่ผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้ว และกำลังจะพ้นโทษใน 3 เดือน
- เน้นการสร้างความเข้าใจกับสังคมภายนอก เพื่อลดการตีตราจากสังคม
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังสามารถพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้สอดคล้องกับความท้าทายอื่น ๆ เพื่อสันติสุขในสังคม ไม่ว่าจะเป็นโมเดลการทำงานรูปแบบ Privatization ในบางบริการ โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งรัฐอาจลดบทบาทลงเป็นผู้สนับสนุนและกำกับมาตรฐาน โดยสามารถดำเนินการทดสอบผ่านรูปแบบ Sandbox
“กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของโลกและไทยจะมุ่งเน้นพัฒนาโดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง
เชื่อมโยงกับ
การพัฒนาที่ยั่งยืน และบูรณาการระหว่างภาคส่วนมากขึ้น
ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายของผู้ปฏิบัติงานด้านยุติธรรมทางอาญาของไทย” ดร. พิเศษ
กล่าวทิ้งท้าย