นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (10มิ.ย) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายประภัตร โพธสุทน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์เร่งเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกินพร้อมกับเร่งพัฒนาวัคซีนลัมปีสกินจากพืชด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า plant based vaccine โดยความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์กับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์มของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทดสอบวัคซีนได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าโดยโรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์พร้อมผลิตวัคซีนดังกล่าวทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการผลิตวัคซีนสัตว์จากพืชซึ่งจะเริ่มจากวัคซีนลัมปีสกิน
ทางด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่เกิดการระบาดของโรคลัมปี สกิน กับโค-กระบือของเกษตรกร ในหลายพื้นที่ของประเทศ จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือได้รับผลกระทบจากความสูญเสียโค-กระบือไปนั้น กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของโค-กระบือเหล่านั้น จึงได้เตรียมการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน ดังนี้
ในกรณีที่เป็นการชดเชยกรณีสัตว์ตายหรือป่วยตาย โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๖๒ และมีขั้นตอน คือ
1. รวบรวมข้อมูลความเสียหาย
2. รวบรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ปศุสัตว์อำเภอ)
3. รวมรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ปศุสัตว์จังหวัด)
4. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ปศุสัตว์จังหวัด หรือกรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ ชดเชยตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว เป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากของเกษตรกร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
หน่วย : บาท/ตัว
อายุ โค กระบือ
น้อยกว่า ๖ เดือน ๖,๐๐๐ ๘,๐๐๐
๖ เดือน ถึง ๑ ปี ๑๒,๐๐๐ ๑๔,๐๐๐
มากกว่า ๑ ปี ถึง ๒ ปี ๑๖,๐๐๐ ๑๘,๐๐๐
มากกว่า ๒ ปี ๒๐,๐๐๐ ๒๒,๐๐๐
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายใด ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี- สกิน และมีความประสงค์จะขอรับการเยียวยา ขอให้ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้าน หรือศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ทางโทรศัพท์ 0-2653-4444 ต่อ 3315 และ e-mail : disaster@dld.go.th