เที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ พาไปวัดกาหลวง ริมคลองสุนัขหอน จังหวัดสมุทรสาคร ผมจะพาทุกท่านเดินทางไป กราบสังขารหลวงปู่สุด สิริธโร ที่วัดกาหลงแห่งนี้ครับ
วัดกาหลง มีเรื่องเล่าความเป็นมามากถึง 3 เรื่อง เกี่ยวกับ “บ้านกาหลง” “ วัดกาหลง” และ “คลองสุนัขหอน”
เรื่องที่ 1 บ้านกาหลง ตั้งอยู่เขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ตามประวัติความเป็นมาของคำเรียก “บ้านกาหลง” ขอย้อนกลับไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งนั้นที่คลองบ่อมีสามีภรรยาคู่หนึ่งมีอาชีพตัดไม้ขายเพราะบริเวณนี้มีต้นตะบูนขาวและตะบูนดำอยู่มาก รวมทั้งป่าไม้เบญจพรรณ อยู่มาวันหนึ่งสามีภรรยาออกไปตัดไม้ตามปกติก็เห็นนกกาหรืออีกามันร้องแล้วบินไปมาระหว่างต้นไม้ 2 ต้นนั้น ทั้งบินทั้งร้อง สามีภรรยาคู่นี้ก็เลยไปดูก็พบเด็กทารกเพศหญิงห่อในผ้าห่มเมื่อพบแล้วนำมาถามหาพ่อแม่ของเด็กปรากฎว่าไม่มีใครทราบก็เลยเลี้ยงไว้และตั้งชื่อว่า “กาหลง” ครั้นเด็กหญิงกาหลงโตขึ้นมาผิวดำเหมือนนกกา นี่แหละครับคือที่มาของคำว่า “บ้านกาหลง”
เรื่องที่ 2 คือนางกาหลงนั้นต่อมาก็ร่วมกันกับชาวบ้านกาหลงสร้างสำนักสงฆ์ในพื้นดินของตนเองที่พ่อแม่ยกให้ สำนักสงฆ์แห่งนี้คือ “วัดกาหลง” ริมคลองสุนัขหอนโดยตามประวัติกล่าวว่าพระภิกษุรูปหนึ่งธุดงค์มานั้นคือ หลวงปู่สุด สิริธโร เมื่อชาวบ้านพบท่านเกิดศรัทธาเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้จำพรรษาที่สำนักสงฆ์แห่งนี้และหลวงปู่สุด ได้พัฒนาจนเป็นชื่อ “วัดกาหลง”เจริญรุ่งเรืองถึงทุกวันนี้
สำหรับ หลวงปู่สุด สิริธโร ท่านเป็นชาวอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านเกิดในปี พ.ศ. 2445 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 พออายุ 16 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกลางพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติกรรมฐาน พออายุ 20 ปี ได้อุปสมบทตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วเรียนตามหลักสูตรทางพระพุทธศาสนาจบนักธรรมเอก ต่อมาก็ออกธุดงค์มากรุงเทพฯ-จังหวัดสมุทรสาครมาวัดท่ากระบือริมน้ำท่าจีนเพื่อศึกษาวิชากรรมฐานกับหลวงปู่รุ่ง ติสสโรหรือพระอาจารย์ไพโรจน์วุฒาจารย์ แล้วได้ธุดงค์ต่อไปวัดบางกะพ้อมจังหวัดสมุทรสงครามศึกษาวิชากรรมฐานกับหลวงพ่อคง แล้วก็ธุดงค์มาบ้านกาหลงพัฒนาสำนักสงฆ์ให้เป็นวัดกาหลงในปี พ.ศ. 2478-2545 หลวงปู่สุดได้ละสังขารอย่างสงบนิ่งด้วยสิริอายุ 81 ปี ต่อมาทางวัดกาหลงได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพแต่เผาไม่ไหม้ด้วยเหตุนี้จึงได้อัญเชิญสังขารหลวงปู่สุดประดิษฐานในโลงแก้วบนศาลาการเปรียญเพื่อให้ญาติโยมกราบบูชา
หลวงปู่สุด ท่านได้จัดสร้างวัตถุมงคล เช่น ผ้ายันต์ตะกร้อ ชาวประชาชนเรียกปาฏิหาริย์ผ้ายันต์ตะกร้อและเสือเผ่น เป็นต้น หลวงปู่สุดท่านชอบกีฬาตะกร้อมากสมัยก่อนนี้จะมีการแข่งขันตะกร้อตามลานวัดนี้ด้วยล่ะครับ
หากคุณผู้อ่านเดินทางไป วัดกาหลง หนุ่ม’ สุทน ขอแนะนำ
จุดที่ 1 รูปปั้นหลวงปู่สุด องค์ใหญ่มาก ประดิษฐานหน้ามณฑป
จุดที่ 2 ขึ้นบนศาลาการเปรียญกราบบูชาสังขารหลวงปู่สุดที่เผาไม่ไหม้
จุดที่ 3 เข้าในมณฑป บูชาปิดทองพระพุทธรูปคือ “หลวงพ่อแดง” อัญเชิญมาจากวัดร้างในเขตกรุงเก่าอยุธยาและรูปหล่อหลวงปู่สุด
สำหรับเรื่องเล่าที่ 3 คลองสุนัขหอนหรือชาวบ้านเรียกคลองหมาหอน เป็นคลองเชื่อม 2 จังหวัดคือเมืองสมุทรสงครามและเมืองสาครบุรีหรือเมืองสมุทรสาคร ทำไมเรียกว่าคลองหมาหอน? นั้น คำตอบคือสมัยโบราณกาลในยามค่ำคืนชาวบ้านจะเอาเรือผีหลอกออกหาปลาพายเรือไปเรื่อยๆ ผ่านบ้านเรือน หมาจะหอนเสียงดัง นี่แหละคลองหมาหอนแต่ภาษาเขียนทางราชการคลองสุนัขหอนจ้า
วันนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ 3 เรื่องราวเล่าขาน น่าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านกาหลง ชุมชนเก่าแก่ ทำอาชีพชาวนาเกลือ แล้วเข้ากราบบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดกาหลงเท่านี้ก็สุขใจอิ่มใจอิ่มบุญกุศลตามศรัทธาของแต่ละคน “เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ ถ้าอยากรู้ต้องออกเดินทางไป…กับ…ผมหนุ่ม’ สุทน” ขอบคุณและสวัสดี
เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม’ สุทน รุ่งธัญรัตน์
แฟนเพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/
#ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทยทางคลื่นข่าว100.5fm ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.
#เที่ยวเพลิน #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน #bigmaptravel #Tourism local life ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน