การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2/2564 เท่ากับ 11 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด และต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมาในระดับมาก ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2563 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 3/2564 เท่ากับ 33 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าผลประกอบการในไตรมาสหน้าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้เล็กน้อย แต่สถานการณ์ท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด รศ.ผกากรอง เทพรักษ์ รายงานว่าผู้ประกอบการคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาส 3/2564 ภาคเหนือและภาคใต้มีสถานการณ์ท่องเที่ยวที่แย่กว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ที่ยืดเยื้อ และยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยไตรมาส 2/2564 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังเปิดบริการตามปกติมีเพียงร้อยละ 50 ลดลงจากไตรมาส 1/2564 ร้อยละ 17 โดยปิดกิจการชั่วคราวร้อยละ 36 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 และปิดกิจการถาวร ร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 นอกจากนี้พบว่าในไตรมาสนี้ ร้อยละ 68 ของสถานประกอบการท่องเที่ยวมีจำนวนพนักงานเหลืออยู่ไม่เกินร้อยละ 50 และร้อยละ 60 ของสถานประกอบการท่องเที่ยวที่ยังเปิดอยู่จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานไม่เกินร้อยละ 50 จากที่เคยจ่าย ที่สำคัญคือร้อยละ 75 ของสถานประกอบการท่องเที่ยวมีรายได้ไม่เกินร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับตอนที่สถานการณ์ปกติ และร้อยละ 82 ของโรงแรมทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักไม่เกินร้อยละ 10 นอกจากนี้พบว่าร้อยละ 74 ของสถานประกอบการที่ยังเปิดบริการในไตรมาสนี้ มีทุนสำรองให้ใช้ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน สะท้อนให้ในเห็นว่า หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า จะมีสถานประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเหลือรอดอยู่เพียงประมาณร้อยละ 13 ของทั้งประเทศเท่านั้นหากไม่ได้รับการเยียวยาหรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือ Soft Loan ได้ ซึ่งเมื่อมีการสอบถามว่าต้องการ Soft Loan ในวงเงินเท่าใด ร้อยละ 73 ของผู้ประกอบการระบุว่าต้องการกู้เงินเพื่อใช้ในการหมุนเวียนธุรกิจในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าภาคการท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อมเพื่อตอบรับแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันของรัฐบาลโดย ได้แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 4 ส่วน คือ ด้านการป้องกัน ด้านการเยียวยา ด้านการพัฒนา และด้านการฟื้นฟู โดยทีมป้องกัน ได้เร่งสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ได้ผลตามเป้าหมาย และยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัย SHA Plus โดยเริ่มจาก Phuket Sandbox เป็นที่แรก และเดินหน้าพื้นที่นำร่องอื่นๆ เช่น สมุย กระบี่ พังงา เป็นต้น นอกจากนี้ทีมด้านการเยียวยา พัฒนา และฟื้นฟูก็ได้ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับทั้งด้าน Supply คือ ผู้ประกอบในพื้นที่ และด้าน Demand คือ กลุ่ม Agent ทั้งในและต่างประเทศ และได้บูรณาการกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการสร้างความพร้อม เพิ่มความเชื่อมั่นและทำแผนการตลาดเชิงรุกให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ดูแลตลาด Inbound ได้เสริมว่า การประมาณการณ์นักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้นั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดย 2 ปัจจัยหลัก คือแผนการฉีดวัคซีนและแผนการเปิดประเทศของทั้งไทยและต่างประเทศ โดยประเมินว่า หากประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้เกิน 70% และสามารถเปิด 10 จังหวัดนำร่องรวมถึงกรุงเทพมหานครได้ภายใน 120 วัน และประเทศเป้าหมายรวมทั้งจีนเปิดการเดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่ต้องกักตัว เราจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 3 ล้านคน และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 212,000 ล้านบาท แต่หากเราเปิดได้เพียง 9 จังหวัด และจีนยังไม่เปิดประเทศ อาจจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเหลือเพียง 1 ล้านคน คิดเป็นรายได้ประมาณ 83,000 ล้านบาท
ด้านนายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เพิ่มเติมในส่วนของการท่องเที่ยวภายในประเทศว่า สทท. กำลังเร่งฟื้นฟูตลาดท่องเที่ยวไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศเช่นกัน โดยโครงการทัวร์เที่ยวไทย เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และโครงการที่จะนำเสนอเพิ่มเติม คือ “โครงการวัคซีนยกก๊วน เที่ยวไทยคึกคัก” จะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งหลังในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งภาคการท่องเที่ยวกำลังรอดูสถานการณ์ด้านสุขอนามัยอย่างใกล้ชิดและได้เตรียมแผนปฏิบัติการ หรือ SOP ที่เหมาะสมและสมดุลที่สุดเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมั่นใจได้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นอยู่บนมาตรฐานของความปลอดภัยและยังสามารถสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนได้ เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาเป็นกลไกที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างสมบูรณ์