กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยรวมทั้งบริหารจัดการน้ำทั้งจังหวัด
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่พื้นที่ป่าต้นน้ำตอนบนถูกทำลาย การขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ตอนบน เพื่อช่วยชะลอน้ำหลาก ประกอบกับประสิทธิภาพระบบระบายน้ำไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะเกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากเป็นประจำทุกปี ซึ่งทางกรมชลประทานได้ศึกษาการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ใน จังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้งหมด 19 อําเภอ พบว่ามีโครงการทั้งสิ้น 143 โครงการ และได้นำมาศึกษาพร้อมจัดลำดับความสำคัญ โดยใช้เกณฑ์การพิจารณา 4 ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ-สังคม และด้านเศรษฐศาสตร์ จนสามารถสรุปโครงการที่มีความสําคัญและเหมาะสม 3 โครงการ เป็นโครงการนำร่อง ในพื้นที่ อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอพุนพิน และอำเภอเมือง ซึ่งเป็น 3 พื้นที่หัวใจสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สำหรับรูปแบบการดำเนินการศึกษาโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้ง 3 โครงการ คือ
1. โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยประโยชน์โครงการเมื่อแล้วเสร็จ คือการบรรเทาอุทกภัยในเขต ตำบลท่าชนะ ตำบลคลองพา และ ตำบลสมอทอง อำเภอท่าชนะ พื้นที่ 15,050 ไร่ ป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำเข้าพื้นที่การเกษตรในเขต ตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ พื้นที่ 8,530 ไร่ รวมถึงสามารถเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้เพื่อการเกษตร อุปโภค-บริโภคในฤดูแล้งและการผลิตน้ำประปาได้อีกด้วย
2. โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอำเภอไชยาประสบปัญหาพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำ เนื่องมาจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งที่มีแม่น้ำไหลผ่านมาจากเทือกเขาภูเก็ตทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอ ทั้งนี้พื้นที่อำเภอไชยาในช่วงของฤดูฝนจะตกมากในบริเวณที่ที่เป็นเทือกเขาเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอไชยา หากการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 28,315 ไร่คิดเป็นร้อยละ 86.87 เมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554นอกจากนี้การขุดคลองผันน้ำต่างๆ จะช่วยระบายมวลน้ำหลากส่วนเกินออก เพื่อไม่ให้มวลน้ำหลากไหลเข้าไปท่วมในพื้นที่ อำเภอเมืองไชยา และผันน้ำบางส่วนไปกักเก็บในแก้มลิงทุ่งท่าเนียนและแก้มลิงป่าเว สามารถพัฒนาพื้นที่รับประโยชน์เพื่อการเกษตรบริเวณพื้นที่แก้มลิงเพิ่มขึ้นประมาณ 6,074 ไร่
3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัย บริเวณพื้นที่อำเภอพุนพิน และ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อผันน้ำส่วนเกินไปเก็บกักไว้ในพื้นที่แก้มลิง เช่น แก้มลิงทุ่งปากขอ เพื่อเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้ง ร่วมกับการผันน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูน้ำหลากออกไปทางคลองผันน้ำสายใหม่เลี่ยงเมืองสุราษฎร์ธานีออกสู่ทะเลต่อไป
สำหรับการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้ง 3 โครงการข้างต้น วางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ และเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้ง อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อไป