“ถ้าอยากเป็นนักเขียนจนประสบความสำเร็จมี 2 อย่างที่ควรทำ นั่นคือ อ่านให้เยอะและเขียนให้เยอะ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าไม่สามารถมีอะไรมาทดแทนทั้งสองอย่างนี้ได้ แถมไม่มีทางลัดด้วย” คำแนะนำจาก “สตีเฟน คิง” นักเขียนนิยายสยองขวัญระดับโลก ที่นักเขียนเงายึดเป็นแบบอย่างมาตลอดหนึ่งปีของการทำงานภายใต้เงาและความสำเร็จของนักเขียนที่ว่าจ้าง เจ้าตัวบอกเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างฝันของใครบางคนให้เป็นจริง สำหรับอาชีพ “นักเขียนเงา” ก็เคยเป็นประเด็นดราม่าในหมู่นักเขียนเรื่องการลอกงานนักเขียนคนอื่นมาส่งให้ผู้ว่าจ้าง ซึ่งตัวนักเขียนเงาคนนี้ยึดถือจรรยาบรรณของงานเขียนโดยไม่เคยคิดลอกผลงานใคร สำหรับสกู๊ปพิเศษนี้มีโอกาสได้รู้จักนักเขียนเงาคนหนึ่งที่กล้าออกมาเปิดเผยตัวตนภายใต้ความสำเร็จและชื่อเสียงของนักเขียนหลาย ๆ ที่เจ้าตัวเคยรับงานเขียน เราในฐานะคนข่าวไม่ขอเปิดเผยนักเขียนที่เคยว่าจ้างนักเขียนเงาคนนี้ เพราะประเด็นที่ต้องการนำเสนอคือประสบการณ์และความสำเร็จในการเป็นนักเขียนเงา และกฎของการรับงานเขียน โดยนักเขียนเงาชื่อจริง เสียงจริงคือ กรณ์อภิสรา เรืองสุวรรณ์ ชื่อเล่นว่า เมย์ ได้เล่าประสบการณ์การเป็นนักเขียนเงาอย่างหมดเปลือกว่า
“ปัจจุบันทำงานเป็นนักเขียนอาชีพ รับเขียนหนังสือนิยาย, หนังสือ How to ธุรกิจ, หนังสือสร้างแรงบันดาลใจ, บทความ เรื่องสั้นในรูปแบบของนักเขียนเงา, บทหนังสั้น/ซีรีส์/ละครสำหรับเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ยังมีงานด้านบรรณาธิการ ครูสอนภาษาอังกฤษ Toeic ออนไลน์และการเป็นเจ้าของแบรนด์สบู่ออร์แกนิกส์ K&M Natural ที่จัดจำหน่ายในรูปแบบดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งด้วยค่ะ เหตุผลที่เมย์มาสวมบท ‘นักเขียนเงา’ เริ่มจาก นิยายเรื่องแรกเขียนแนวชายหญิง วาย ฯลฯ ที่เลือกอาชีพนักเขียนเงา คือ โอกาสในการได้ทำงานที่ชอบและรายได้ที่น่าพอใจค่ะ ปกติเมย์เป็นคนที่ชอบเรียนรู้และตื่นเต้นกับการทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่แล้ว พอมีผู้ว่าจ้างสนใจจ้างให้เขียนนิยายให้ก็ตัดสินใจรับทันที เพราะนอกจากจะได้ทำสิ่งที่ชอบแล้ว เรายังสามารถสร้างรายได้จากสิ่งนี้ได้อีกด้วย นิยายเรื่องแรก คือนิยายแนวสยองขวัญ ความยาว 50 หน้า A4 ค่ะ หลังจากนั้นก็ตามมาด้วย นิยายรักโรแมนติกคอมเมดี้ (ช-ญ), นิยายรักโรมานซ์ (ช-ญ) และล่าสุดคือนิยายวาย(ช-ช) ความยาว 120-150 หน้า A4 ค่ะ ในการรับงานเขียนของเมย์จะรับทั้งสองรูปแบบ คือรับจากสำนักพิมพ์ แต่โดยส่วนใหญ่กว่า 80% จะมาจากผู้ว่าจ้างที่เป็นนักเขียนค่ะ แล้วพอได้โจทย์จากผู้ว่าจ้างก็จะลงมือเขียน แต่ถ้าเนื้อเรื่องเกิดไปคล้ายหรือเหมือนกับเรื่องราวของนักเขียนคนอื่นตัวนักเขียนเงาต้องเป็นฝ่ายขอโทษและรับผิดชอบแน่นอนค่ะ หากผู้ว่าจ้างไม่สะดวกที่จะเปิดเผยว่ามาจ้างนักเขียนเงาเขียนให้ เค้าอาจจะรับผิดชอบไปในนามของเค้าเอง และติดต่อให้นักเขียนเงาชดใช้ค่าเสียหายให้กับเค้าในทางลับอีกทีค่ะ โดยส่วนใหญ่ในกรณีนี้ จะจบที่การชดใช้ค่าเสียหายและปรับแก้ไขงานเขียนใหม่ค่ะ
เมย์เป็นนักเขียนเงามาประมาณ 1 ปีเศษค่ะ น่าจะยังเรียกว่าเป็นมือใหม่ของวงการเลยก็ว่าได้นะคะ ผลงานนิยายที่ได้รับการว่าจ้างในฐานะนักเขียนเงาที่ผ่านมา จำนวน 14 เล่ม นอกจากนี้ยังมีงานเขียนหนังสือประเภท How to ธุรกิจ/แนวสร้างแรงบันดาลใจ 5 เล่ม, เรื่องสั้นอีก 92 เรื่องค่ะ จากทำงานประจำกับบทบาทนักเขียนเงาถามว่างานไหนเหนื่อยหรือยากกว่ากันในความคิดและประสบการณ์ที่ผ่านมาของเมย์มองว่าการเป็นนักเขียนเงา เป็นงานที่เรามีอิสระในการคิดและจินตนาการมากกว่าการทำงานประจำที่อาจจะมีกรอบความคิดหรือขั้นตอนการทำงานมาควบคุมนะคะ นักเขียนมักอาศัยการทำงานกับตัวเองเสียมากกว่า นั่งหน้าคอม ศึกษาข้อมูลและลงมือเขียน จะไม่ค่อยได้ติดต่อหรือพูดคุยกับผู้คนจำนวนมากเท่าไรนัก ซึ่งจะเหมาะมากสำหรับคนที่รักในความสงบและไม่ชอบความวุ่นวายค่ะ ส่วนเรื่องของรายได้ เมย์ว่าข้อนี้อาจจะตอบยากสักหน่อยนะคะ บางทีอาจจะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เอาเป็นว่า ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงทางรายได้ต้องยกให้งานประจำเลยค่ะ แต่งานประจำเอง ก็มีเรื่องของเพดานรายได้ที่จำกัดอยู่เหมือนกัน ส่วนนักเขียนเงา อาจมีความเสี่ยงเรื่องของความมั่นคงทางรายได้ให้ต้องกังวลอยู่บ้าง แต่งานในลักษณะนี้จะไม่มีเพดานรายได้ที่จำกัดนะคะ ขึ้นอยู่กับฝีมือ ความรู้ความสามารถและความขยันของนักเขียนแต่ละคนเลยค่ะ
ส่วนของการรับงานเขียนเงาโดยส่วนใหญ่ผู้ว่าจ้างจะมีธีม(Theme) และพล็อตเรื่อง(Plot) คร่าว ๆ มาให้ค่ะ เมย์จะมีหน้าที่ช่วยคิดพล็อต โครงเรื่อง ออกแบบคาแรคเตอร์ตัวละคร ตั้งชื่อ และเขียนให้จนจบเล่มค่ะ สำหรับเล่มผลงานที่เมย์เขียนให้ผู้ว่าจ้างโดยปกติทางผู้ว่าจ้างจะแจ้งเป็นชื่อและนามสกุลจริง บางรายสะดวกว่าจ้างในนามองค์กรหรือสำนักพิมพ์ก็มีค่ะ ส่วนใหญ่เมย์จะไม่ค่อยทราบนามปากกาของผู้ว่าจ้างนะคะ เพราะเมื่อเมย์เขียนจบ ลิขสิทธิ์ของงานเขียนเล่มนั้นจะเป็นของผู้ว่าจ้างทั้งหมด ทางนักเขียนเงามีหน้าที่ช่วยเขียนให้เท่านั้นค่ะ ส่วนเล่มที่รู้ชื่อหนังสือก็จะไปอุดหนุนเป็นการตอบแทนบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เค้าเห็นคุณค่าในการเป็นนักเขียนเงาของเมย์ค่ะ แม้จะไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่เราสามารถช่วยสร้างฝันของใครบางคนให้เป็นจริง อีกทั้งยังมีส่วนในการสร้างสรรค์งานเขียนออกสู่สังคมค่ะ
นอกจากปัจจัยและได้พัฒนาฝีมือในการเป็นนักเขียนเงาแล้ว เมย์ยังได้สัมผัสถึงแนวคิดและประสบการณ์ใหม่ ๆ ในมุมมองที่แตกต่างออกไปค่ะ เช่น แนวคิดและวิธีการจากผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจที่เราจะได้สัมผัสในขั้นตอนการสัมภาษณ์ค่ะ รวมถึง มิตรภาพที่น่ารัก เมย์มีเพื่อนที่เป็นอดีตผู้ว่าจ้างอยู่หลายคนเลยค่ะ และยังคงได้พูดคุยหรืออัปเดตเรื่องราวต่าง ๆ กันอยู่เสมอ ปีหนึ่งเมย์สามารถรับงานเขียนโดยรวมน่าจะเฉลี่ยประมาณ 12-36 เรื่องค่ะ (เดือนละ 1-3 เรื่อง) โดยส่วนใหญ่ระยะเวลาเขียนจะอยู่ที่ 30-45 วันค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความยาวของแต่ละเล่มด้วยค่ะ
สำหรับข้อกำหนดกฎเกณฑ์การเป็นนักเขียนเงา คือ ลิขสิทธ์งานเขียนจะเป็นของทางผู้ว่าจ้างทั้งหมด นักเขียนเงาห้ามนำไปเป็นผลงานอ้างอิงหรือเปิดเผยว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเขียนเล่มนั้นโดยเด็ดขาด ยกเว้นว่า อาจจะมีบางกรณีที่ผู้ว่าจ้างให้เครดิตนักเขียนเงาโดยจะระบุชื่อนักเขียนเงา ในตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ บรรณาธิการร่วม แบบนี้ก็มีค่ะ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่พูดคุยกันก่อนตกลงจ้างงาน ถามว่าเมย์เคยหลงตัวละครในนิยายที่ตัวเองเขียนไหม เรื่องหลงตัวละครน่าจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับเมย์เลยค่ะ(ยิ้ม) เพราะเมย์เชื่อว่าถ้าเราสามารถออกแบบตัวละครให้ตัวเองหลงรักได้ คนอ่านก็จะหลงรักและเอาใจช่วยตัวละครของเราไปด้วยค่ะ ส่วนเรื่องบุคลิกที่ชื่นชอบ คงเป็นแนวพาฝันล่ะค่ะ เช่น พระเอกคลั่งรัก ตัวละครที่ถูกเหยียบย่ำให้ตกต่ำถึงขีดสุด แต่มีจิตใจของนักสู้ที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แนว ๆ ซุปเปอร์ฮีโร่ อะไรประมาณนั้นเลยค่ะ มาในส่วนของฉากที่ยากสำหรับเมย์ คือ ฉากที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับสายอาชีพต่าง ๆ ค่ะ เช่นการสืบสวนของทางตำรวจ การพิสูจน์หลักฐาน การว่าความในชั้นศาล นักบิน แพทย์พยาบาล ฯลฯ เพราะฉากแบบนี้ จะต้องอาศัยการศึกษาข้อมูลทั้งจากสื่อต่าง ๆ และสอบถามจากบุคคลที่ทำงานด้านนั้น เพื่อให้เกิดความถูกต้องและสมจริงค่ะ
แน่นอนว่าการจะเป็นนักเขียนเมย์ก็มีนักเขียนในดวงใจ เมย์ชื่นชอบคุณสตีเฟน คิง เค้าเป็นนักเขียนที่เขียนนิยายได้สนุกมาก เมย์เคยอ่านประวัติในอดีต เขาได้รับจดหมายปฏิเสธเยอะมาก ๆ จนตะปูตัวเล็กที่ใช้แขวนถุงสำหรับรับจดหมายเกือบรับน้ำหนักไม่ไหว ในเวลานั้น แทนที่จะท้อแท้ เขากลับปลอบใจตัวเองว่า “ไม่เป็นไร เราเปลี่ยนเป็นตะปูตัวใหญ่เสียก็จบ” แล้วก็ก้มหน้าก้มตาเขียนต่อไป จนในที่สุด นิยายของเขาก็ได้ตีพิมพ์ขายทั่วโลกและยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกหลายเรื่องอีกด้วยค่ะ ครอบครัวเมย์ทราบมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มเข้าวงการนักเขียนเงาเลยค่ะ นับว่าเมย์โชคดีมากที่ครอบครัวให้การสนับสนุน ให้กำลังใจและคำแนะนำที่ดีอยู่เสมอค่ะ พอได้เงินก้อนแรกเมย์ให้รางวัลตัวเองด้วยการซื้อหนังสือมาอ่าน โอนให้พ่อแม่ เก็บออม/ลงทุน และใช้จ่ายในชีวิตประจำวันค่ะ
ในปีนี้เมย์มีแผนออกเล่มนิยายรักโรมานซ์ และโปรเจ็กต์นิยายผีสยองขวัญ ในนามของตัวเองกับสำนักพิมพ์ค่ะ อยากฝากอะไรถึงเพื่อน ๆ ที่สวมบทนักเขียนเงา เมย์อยากบอกว่า จงรักงานของผู้ว่าจ้างให้เหมือนรักงานของตัวเอง หากเรามีความรักต่องานที่เขียน เราจะคิดอย่างรอบคอบก่อนจะลงมือทำอะไรลงไปเสมอและเราจะไม่เผลอไปทำในสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณของนักเขียนเงา รวมถึงการลอกผลงานผู้อื่นมานั้นนับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วยนะคะ! อย่าหาทำโดยเด็ดขาด! ผู้ว่าจ้างคือคนที่เห็นคุณค่าในความสามารถด้านการเขียนของเราและพร้อมจ่ายค่าจ้างให้เราได้มีเงินเลี้ยงชีพ นับได้ว่าเป็นผู้มีพระคุณต่อวงการนักเขียนเงาอย่างมาก ฉะนั้น เราจึงไม่ควรทำให้เค้าผิดหวังหรือต้องเดือดร้อนค่ะ หากถึงจุดที่คิดงานไม่ออก เมย์อยากให้นึกถึงคำแนะนำจากคุณสตีเฟน คิง นักเขียนนิยายสยองขวัญระดับโลก ที่เมย์ยึดถือมาตลอด นั่นคือ “ถ้าอยากเป็นนักเขียนจนประสบความสำเร็จมี 2 อย่างที่ควรทำ นั่นคือ อ่านให้เยอะและเขียนให้เยอะ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าไม่สามารถมีอะไรมาทดแทนทั้งสองอย่างนี้ได้ แถมไม่มีทางลัดด้วย” หากเราอ่านงานมามากพอ ทุกตัวอักษร คลังคำ รูปแบบประโยคที่เราสะสมไว้ในสมอง จะถูกนำมากลั่นกรองและเรียบเรียงใหม่ ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเองโดยอัตโนมัติ เราไม่จำเป็นต้องไปลอกงานใครเลยค่ะ”