ตำรวจไซเบอร์…“บุกจับ..ทลาย!! แหล่งใหญ่เครื่องสำอางเถื่อน เสียหายกว่า 10 ล้านบาท ผลิต ขาย ครีมเถื่อน สวมยี่ห้อ อย.ยกเลิกเลขจดแจ้ง ยังหลอกขาย โฆษณาเกินจริง ขายผ่านสื่อออนไลน์

วันที่ 25 ส.ค.64 เวลา 13.30 น. ที่กองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.), พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง ผบก.สอท.2, พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 พร้อมคณะทำงานฯ และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.)และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาการรองเลขาธิการ (อย.) ร่วมกันแถลงข่าว ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์โดยทุจริตและผิดกฎหมาย ยึดของกลางได้ผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ สารเคมี และเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต จำนวนหลายรายการ ความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท ตรวจค้นแหล่งใหญ่ และจับกุมที่ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา

เจ้าหน้าที่ตำรวจคณะทำงานสืบสวนสอบสวนอาชญกรรมทางเทคโนโลยี ประเภทการหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์และการค้าขายสินค้าผิดกฎหมายผ่านสื่อออนไลน์ บก.สอท.2 ได้ติดตาม เฝ้าฟัง การกระทำผิดผ่านสื่อออนไลน์ พบมีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต ในพื้นที่ จ.สงขลา และสืบทราบว่าโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ “ดีเอ็น ออร่า ไวท์ บอดี้ โลชั่น (DN AURA WHITE BODY LOTION)” ซึ่งถูก อย.ยกเลิกเลขจดแจ้งไปแล้วเมื่อเดือน ก.พ.64  ได้จำหน่ายทางสื่อออนไลน์และอีมาร์เก็ตเพลสเป็นจํานวนมากด้วยข้อความ เช่น “เปลี่ยนผิวดํา กรรมพันธุ์ สู่ผิวขาวใส ใน 7 วัน” ซึ่งแสดงสรรพคุณเกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสําอาง และไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ อย. ได้ร่วมกันขยายผลติดตาม สืบสวนแหล่ง จําหน่าย จนสืบทราบว่าบ้านใน ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เป็นแหล่งลักลอบผลิตเครื่องสําอางรายใหญ่ยี่ห้อดังกล่าว ได้ทำการลักลอบผลิตเครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต เข้าข่าย พ.ร.บ.เครื่องสำอาง และพ.ร.บ.อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานฯ จึงขออนุมัติหมายค้นของศาลจังหวัดสงขลา เข้าตรวจค้นบ้านดังกล่าว ผู้ต้องหาสารภาพว่าได้ผลิต จำหน่าย และส่งขายไปยังตัวแทนจำหน่ายต่างๆ นานกว่า 2 ปี

บ้านหลังดังกล่าวถูกใช้เป็นสถานที่ลักลอบผลิตเครื่องสําอางประเภทครีมจํานวนหลายยี่ห้อ เช่น ยี่ห้อดีเอ็น (DN) ยี่ห้อใหม่ (MAI) ยี่ห้อเคที (KT) จึงตรวจยึดของกลาง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สําเร็จรูป ยี่ห้อ MAI และ DN กว่า 460 ชิ้น, ยาคีโตโคนาโซล 240 กล่อง บรรจุภัณฑ์เปล่ากว่า 10,000 ชิ้น เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ครีมรอบรรจุ และฉลากสติกเกอร์ รวมมูลค่าของกลางกว่า 300,000 บาท และนําตัวอย่างของกลางส่งตรวจหาสารต้องห้ามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดําเนินคดีตามกฎหมาย ผิดประมวลกฎหมายอาญา ฐาน

1.ขายของหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกําเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ มีอัตราโทษ จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

2.เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทําให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทํานองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น มีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

3.อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฐาน “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ความผิด ”พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ.2558 ฐาน

1.ผลิตเครื่องสําอางโดยไม่จดแจ้ง มีโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

2.ผลิตเพื่อขายเครื่องสําอางปลอม มีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

3.หากผลตรวจวิเคราะห์พบสารห้ามใช้ มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า ควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทุกครั้งก่อนสั่งซื้อจากสื่อออนไลน์ สั่งซื้อสินค้า อุปโภค บริโภค เลข อย. เลขที่จดแจ้ง ฉลากสินค้า ว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เว็บไซต์ ผู้จําหน่ายมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน

ขอแจ้งเตือนกลุ่มผู้ขายสินค้าไม่ซื่อสัตย์ สินค้าไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือ โฆษณาชวนเชื่อสรรพคุณเกินจริงผ่านสื่อออนไลน์ อาจเข้าข่ายการกระทําผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีโทษจําคุก สูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 100,000 บาท

หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทําความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 1441 ตํารวจไซเบอร์ หรือเพจ กองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ครีมเถื่อนที่ยึดได้ในครั้งนี้มักขายตามร้านค้า ออนไลน์ หรือตามแพลตฟอร์ม มักโฆษณาอ้างรักษาสิว รอยแผลเป็น ฝ้า กระ ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส ดํากรรมพันธุ์ก็ขาวขึ้น เห็นผลใน 7 วัน ที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารห้ามใช้ในเครื่องสําอางประเภทนี้ เช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้เป็นเวลานาน อาจทําให้ผิวหน้าดําผิวบางลง แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย ผิวแตกลายถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง จะได้รับสารปรอทในปริมาณมาก อาจเกิดพิษสะสม ส่งผลให้ไตอักเสบ อาจจะเสียชีวิต  จึงขอเตือนประชาชนเพิ่มความระวังเลือกซื้อเครื่องสําอาง อย่าซื้อเพียงเพราะหลงเชื่อคําโฆษณาว่า เครื่องสําอางนี้ช่วยรักษาสิว ฝ้า กระ รอยดําลดลง ช่วยให้ผิวกระจ่างใส ให้ผลเร็ว เพราะมักพบว่า มีการลักลอบ ใส่สารห้ามใช้ เมื่อใช้ระยะหนึ่งจากผิวที่ดูขาว จะกลายเป็นดําคล้ำแล้วจะเป็นฝ้าถาวร หรือรอยแผลเป็นถาวร ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ก่อนซื้อขอให้ตรวจสอบเลขที่จดแจ้งและติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนเครื่องสําอางที่ไม่ปลอดภัย ทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือ ไลน์ @fdathai หากพบการลักลอบผลิต นําเข้า จําหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556

สมชาย/อ๊อด…รายงาน

Related posts