26 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานเสวนา เรื่อง “ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด” จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผ่านระบบ ZOOM Online และ Facebook Live เพื่อสอดคล้องกับนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้าฯ สป.อว.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือหลายหน่วยงานในสังกัด อว. อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง “เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างอนาคต” บรรยากาศงานจะทำให้ทุกท่านได้รับความรู้ ความเข้าใจ ด้านประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการความเชื่อมโยงในการพัฒนาองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และสามารถมองภาพอนาคตประเทศไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของกระทรวง อว. ในฐานะเป็นกระทรวงแห่งความรู้ ศิลปะวิทยาการ ผสมผสานทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ได้เปิดเวทีเสวนา เรื่อง “ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแลกเปลี่ยนบันทึกประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ที่รวมถึงการเรียนรู้อดีตที่ผ่านมาของหน่วยงาน ภารกิจความรับผิดชอบสำคัญ เรื่องราวที่พบเจอวิวัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย จนถึงสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยถ่ายทอดออกมาให้ประชาชนและคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ร่วมกัน ตระหนักถึงความสำคัญและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดพลังสร้างสรรค์งานด้านวิทยาศาสตร์ไทยในอนาคต ส่งผลดีต่อคุณภาพและศักยภาพโดยรวมของประเทศไทยที่จะช่วยส่งเสริมและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันในงานได้จัดนิทรรศการย่อย ผลงานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดย วศ. แสดงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ยุคแรกๆ ได้แก่ สมุดบันทึกการทดลองของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม คู่มือเภสัชกรรมหรือคู่มือวิชาการ Handbuch Der Pharmakognosie ไฮโดรมิเตอร์ ระฆังตีนอกเวลาเรียนสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ และเครื่องโรเนียวบัตรรายการ เป็นต้น ในส่วน วว.และ สวทช. ได้แสดงผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านการแพทย์ เป็นต้น ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ นำไปปรับใช้ประโยชน์ ต่อยอดงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในอนาคต