“บิ๊กป้อม” มอบ สทนช. เร่งบูรณาการภาครัฐ – ประชาชนในพื้นที่ คลอดแผนแก้ความเค็มลุ่มน้ำแม่กลองจุดเชื่อมต่อทะเล

พลเอกประวิตร” ห่วงปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มลุ่มน้ำแม่กลองกระทบวิถีชีวิตประชาชน สั่ง สทนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ รับฟังแนวทางการแก้ปัญหาจากประชาชน – ภาคส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมเร่งศึกษาจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง ก่อนสรุปเสนอกรอบแนวทางแก้ปัญหาน้ำเค็มรุก 4 ลุ่มน้ำติดอ่าวไทยเสนอ กนช.ต้น ก.ย.นี้ 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสลงติดตามความก้าวหน้าแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย และความก้าวหน้าผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณประตูระบายน้ำบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ว่า ตามที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. มีความห่วงใยต่อปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม สั่งการให้ สทนช.เร่งบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ที่สำคัญต้องเสนอแนวทางให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และองค์กรผู้ใช้น้ำในระดับพื้นที่ ได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติหลักให้สามารถขับเคลื่อนนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจน รวมถึง สทนช.จะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผนวกเพิ่มเติมกับการดำเนินโครงการศึกษาผังน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมต่อแนวทางการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. พิจารณาในช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 นี้  

สำหรับในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาลุ่มน้ำแม่กลองประสบปัญหาน้ำเค็มรุกจำนวน 5 ครั้ง ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดสรรน้ำจากเขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี เพื่อรักษาระบบนิเวศน์และป้องกันน้ำเค็มตลอดฤดูแล้งให้สัมพันธ์กับการขึ้นลงของน้ำทะเล  ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำเค็มลุ่มน้ำแม่กลองอยู่ในภาวะปกติ โดยมีจุดเฝ้าระวังที่สถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำหน้าที่ว่าการ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสมุทรสงคราม มีการเฝ้าระวังควบคุมกับการผลิตน้ำประปาที่จ่ายในพื้นที่ทุกสถานี โดยควบคุมการผลิตที่โรงผลิตน้ำแพงพวย จ.ราชบุรีอย่างใกล้ชิด และเก็บตัวอย่างน้ำดิบในแม่น้ำตรวจคุณภาพทุกชั่วโมง   

ขณะที่จุด ปตร.บางนกแขวก มีความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำเค็ม ท่วม แล้งและเสีย ควบคุมไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่สวนผลไม้ สวนพืชผัก บ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงกุ้ง รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวของตลาดน้ำดำเนินสะดวก มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 78,500 ไร่  โดยกรมชลประทานได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชลประทาน หรือ JMC ซึ่งมีส่วนร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ ตัวแทนเกษตรกรเพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอทุกกิจกรรม โดยเกณฑ์กำหนดค่าความเค็มควบคุมที่สถานีวัดคุณภาพน้ำ ปตร.บางนกแขวก จะส่งน้ำให้เกษตรกรจะไม่เกิน 2.0 กรัมต่อลิต รวมถึงยังมีการพัฒนาปรับปรุงคลองสุนัขหอนที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร กับแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม เพื่อรับรองการระบายน้ำจากคลองสาขาสายต่าง ๆ ช่วงปี 2563 – 2565 ได้แก่ 1. ขุดลอกคลองสุนัขหอนในเขต จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 31 กิโลเมตร 2. ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำตามแนวคันควบคุมน้ำทะเล จำนวน 6 แห่ง  3. ก่อสร้างประตูระบายน้ำ กลางคลองสุนัขหอน และก่อสร้างประตูระบายน้ำปลายคลองนิคม 2 และ 4. ก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองสุนัขหอน  

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการการเร่งแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกในระยะเร่งด่วน ในระยะกลาง สทนช.มีนำผลการศึกษาจัดทำผังคุณภาพในลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ทะเล เพื่อเป็นกรอบในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งในส่วนผังน้ำแม่กลองคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ โดยผลการศึกษาในการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกที่ใช้ระบบผังน้ำส่วนหนึ่ง คือ การบริหารจัดการน้ำจาก 2 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำแม่กลอง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์แล้ว ยังรวมถึงการก่อสร้างคันกั้นน้ำขนานกับชายทะเล ปตร.ปลายคลองต่าง ๆ ยังไม่ครบถ้วน ดังนั้น เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นประกอบกับฝนตกหนักทำให้การระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ช้า ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมรุนแรงและน้ำขังหลายวัน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

           อย่างไรก็ตาม การศึกษาระบบผังน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง สทนช.ได้รับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนต่อโครงการฯ อาทิ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มเกษตร สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ รวมถึงชี้แจงทำความเข้าใจในการกำหนดขอบเขต 4 พื้นที่หลัก ที่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำที่ไม่ส่งผลต่อการเบี่ยงเบนทางน้ำ กระแสน้ำ หรือกีดขวางการไหลของน้ำที่เป็นอุปสรรคในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมน้ำแล้ง รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำได้ในอนาคต ได้แก่  1. พื้นที่ทางน้ำริมน้ำ (ลน.) 2. พื้นที่ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ (ลร.) 3. พื้นที่น้ำนอง (น.) และ 4. พื้นที่ลุ่มต่ำ (ต.) ก่อนที่หน่วยงานจะนำผังน้ำไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันแก้ไขภัยแล้ง อุทกภัย และคุณภาพน้ำ โดยเร็วต่อไป 

Related posts