ชุมชนตลาดพลู เป็นชุมชนมีมาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณริมคลองบางกอกใหญ่หรือแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมซึ่งในสมัยกรุงธนบุรีเรียก “คลองบางหลวง” แต่ชื่อทางการเรียกกันว่า “คลองบางกอกใหญ่” ชาวบ้านย่านนี้กลุ่มแรกเป็นชาวมอญหรือชาวรามัญ อพยพเข้ามาทางด้านด่านเจดีย์สามองค์หรือปัจจุบันคืออำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เข้ามาตั้งบ้านเรือน ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นชาวมุสลิมและกลุ่มที่ 3 เข้ามาสมัยกรุงธนบุรีเป็นชาวจีน เมื่อชาวจีนเข้ามาก็ทำสวนปลูกหมากปลูกพลู เพราะว่าผู้คนหรือชาวประชาชนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นชาวบ้านและชาวเมืองหลวงนิยมชมชอบเคี้ยวหมากพลู จนกระทั่งเข้าสมัยรัฐบาลท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ออกกฎหมายห้ามกินหมาก นอกจากนี้ท่านยังเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยามประเทศ” มาเป็น “ประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2482-2484 สำหรับเรื่องราวของสวนหมากพลูซึ่งปลูกกันมากก็ค่อยๆ ลดน้อยลงไป ต่อมามีตลาดชุมชนเล็ก ๆ เรียก “ตลาดพลู” เพราะมีหมากพลูจำหน่ายในตลาดแห่งนี้ โดยเฉพาะพอมีเส้นทางรถไฟสายวงเวียงใหญ่-ตลาดพลู-สถานีรถไฟมหาชัย ในปี พ.ศ. 2504 ทำให้ตลาดพลูเริ่มคึกคักขึ้นมาจากชุมชนเล็กๆ ก็กลายเป็นตึกแถวที่มีผู้คนอาศัยและเป็นแหล่งร่วมอาหารอร่อยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่วนของพลูคงเหลือไว้แต่เท่านั้นครับเป็นชื่อ “สถานีรถไฟสวนพลู” และ “ตลาดพลู” แต่ไม่มีพลูจำหน่ายอีกต่อไปครับ
ในย่านตลาดพลูผมเองเดินมาถึงริมทางรถไฟเรียก “แยกตลาดพลู” เป็นเวลาที่รถไฟกำลังเข้าเทียบชานชลาพอดีเลยครับ ทำให้ได้ภาพสวย ๆ มาฝากผู้อ่านทุกท่านครับ ชุมชนริมทางรถไฟตลาดพลู ดูเงียบสงบ สะอาด สบายตาน่ามองและเหมาะสำหรับการเดินเล่นชิลล์ๆ พร้อมชิมของอร่อยในย่านตลาดพลูกันครับ
แน่นอนครับว่ามาตลาดพลูก็ต้องซื้อ “กุยช่ายลาดพลู” ก็มีเรื่องสันนิษฐานกันเองว่าในปี พ.ศ. 2516 ครั้งนั้นเชื่อว่าอาม่ากุ่ยไน้ ซึ่งบ้านของท่านเป็นโรงงานอยู่หน้าวัดใหม่จีนกันหรือวัดกันตทาราราม อยู่ริมคลองบางชน อาม่ากุ่ยไน้ซึ่งเป็นชาวจีนแต้จิ๋วก็ได้ทำกุยช่ายขายหน้าบ้าน ต่อมาก็มาขายในตลาดพลูริมทางรถไฟจนกลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนที่มาตลาดพลู กุยช่ายของอาม่ากุ่ยไน้นั้นเนื้อแป้งเหนียวนุ่ม ๆ นิ่มๆ เรียกว่ากินแล้วอร่อยทีเดียวด้วยใบกุยช่ายหรือภาษาจีนเรียกกุยซ่ายก้วยเพราะต้นกุยช่ายเป็นผักที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตามถิ่นกำเนิดเรียก “ผักแป้น” นานวันเข้าก็มีกุยช่ายขายกันในตลาดพลูหลายเจ้าจนทุกวันนี้มีร้านกุยช่ายให้เลือกมากกว่า 15 เจ้า เลือกได้ตามใจชอบ ส่วนหนุ่ม’ สุทน ซื้อที่ร้านคุณตาอายุ 82 ปี ร้านแผงลอยเล็กๆ อยู่หลังป้ายแยกตลาดพลูร้านเก่าแก่ ขายเองทำเองมาประมาณ 45 ปี กล่องเล็กราคา 35 บาท กล่องใหญ่ 70 บาท อร่อยถูกใจหนุ่ม’ สุทน มากครับ
อีกร้านที่ห้ามพลาดเมื่อมาถึงตลาดพลูครับ “ขนมหวานตลาดพลู” มองไปเห็นผู้คนต่อคิวซื้อขนมหวานกันมากจริงๆ ผมเดินไปดูมีขนมให้เลือกหลากหลายชนิดมากครับ เช่น ขนมสาลี่ ขนมหม้อแกงและข้าวเหนียวสังขยา และอื่นๆ อีกมากครับ ทางร้านมีมาตรการสำหรับการป้องกันเชื้อโควิด 19 คือใส่หน้ากากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เว้นระยะห่าง พร้อมกันมีแนวกันสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายครับ
ถัดไปคือ “ร้านสุณีข้าวหมูแดงหมูกรอบ” เจ้าแรกเจ้าเดียวในตลาดพลูขายมาแล้วเกิน 60 ปี ก็มีผู้คนเข้าคิวรอซื้อกันเต็มหน้าร้านเหมือนกันครับ ร้านนี้ก็จัดการเว้นระยะห่างสำหรับลูกค้าแจ้งจุดให้ยืนรออย่างชัดเจนครับ
ส่วนติดๆ กันคือ “ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อ” ร้านเก่าแก่ริมทางรถไฟมีทั้ง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อสด เนื้อเปื่อยและลูกชิ้นเนื้อ เอาใจสำหรับท่านที่ชอบทานเนื้อกันเลยครับเลือกได้ตามชอบ สูตรเด็ดของร้านเลยคือน้ำซุปเข้มข้นและเนื้อนุ่ม ๆ พลาดไม่ได้จริง ๆ สำหรับคนชอบทานเนื้อครับ ทุกร้านในตลาดพลูค่อยข้างมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ของเชื้อโควิด 19 ได้อย่างดี กันระยะห่างทั้งจากผู้ซื้อและผู้ขาย สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปตลาดพลูต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามที่ทางร้านแจ้งอย่างเคร่งครัดด้วยนะครับ
ตลาดพลูหรือดั้งเดิมย่านสวนพลู ท่านผู้อ่านถ้าหากชอบเรื่องอาหารการกิน ของอร่อยย่านตลาดพลูไปเที่ยว ไปชม ช็อปของอร่อยได้ครับ ผมเองไปถึงเวลาเที่ยงวันก็เห็นรถไฟจากสถานีรถไฟตลาดพลูไปวงเวียงใหญ่พอดีครับ หากท่านใดอยากลองนั่งเล่นบนรถไฟไปวงเวียงใหญ่ก็ได้ครับชิลล์ๆ ท่องเที่ยวตลาดพลู ทุกวันนี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาครับ สำหรับการเดินทางสามารถจอดรถได้ที่ใต้สะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่ แล้วเดินไปที่สถานีรถไฟสวนพลูได้ครับ “เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ ถ้าอยากรู้ต้องออกเดินทางไป…กับ…ผมหนุ่ม’สุทน” ขอบคุณและสวัสดีครับ
เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม-สุทน รุ่งธัญรัตน์
แฟนเพจเฟสบุ๊ค : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/
#ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทยทางคลื่นข่าว100.5fm ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.
#ติดต่อวิทยากรด้านการท่องเที่ยวได้ที่ 0869992756
#เที่ยวเพลิน #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน #bigmaptravel #Tourism local life ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน