EU-Asia ประสานความร่วมมือ เตรียมจัดการประชุมนานาชาติระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ(AMR) หรือการดื้อยาฆ่าเชื้อเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2564 โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญในยุโรปและเอเชีย และผู้กำหนดนโยบายเพื่อจัดการกับการดื้อยาต้านจุลชีพหรือการดื้อยาฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขที่เร่งด่วนที่สุดในศตวรรษนี้ คาดอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลก ปีละ 10 ล้านคน
การประชุมระดับสูงอียู-เอเชีย เรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (EU-Asia Antimicrobial Resistance (AMR) Conference) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 ตุลาคมนี้ จะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ หรือ AMR จากยุโรป ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เป็นการจัดประชุมนานาชาติในรูปแบบออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติและประสบการณ์ต่างๆ ของนานาประเทศ เสริมสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติในการจัดการกับการดื้อยาต้านจุลชีพ หรือการดื้อยาฆ่าเชื้อ ซึ่งโรคติดเชื้อดื้อยาถือเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยปีละ 38,000 คน
ปัจจุบัน การดื้อยาต้านจุลชีพ(AMR) หรือการดื้อยาฆ่าเชื้อ ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ปรสิต ไวรัส และเชื้อรา มีประสิทธิภาพลดลงเนื่องจากไม่ตอบสนองต่อยาฆ่าเชื้อทั่วไปอีกต่อไป หรือเกิดการดื้อยาฆ่าเชื้อนั่นเอง จากการเก็บข้อมูลพบว่า AMR ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 700,000 คนต่อปีทั่วโลก และคาดว่าหากการจัดการเรื่อง AMR ล้มเหลว ภายในปี 2593 หรืออีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกถึง 10 ล้านคนต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ได้รับผลกระทบในเอเชียและแอฟริกา มากถึง 4.7 และ 4.2 ล้านคนตามลำดับ โดยในประเทศไทย จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า AMR หรือการดื้อยาฆ่าเชื้อ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 38,000 คนต่อปี และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ. 2560-2564 ขึ้นเพื่อจัดการกับการระบาดใหญ่ของ AMR
“ปัจจุบันผู้ติดเชื้อจำนวนมากเริ่มดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งสภานการณ์นี้ แผนปฏิบัติการของยุโรปเพื่อจัดการเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (European One Health Action Plan against AMR) จึงเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้การดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) กลายเป็นโรคระบาดใหญ่ระดับโลก โดยการประชุมนานาชาติระดับสูงเรื่อง AMR ครั้งแรกจะจัดขึ้นในประเทศไทยแบบออนไลน์ หลังจากนั้น จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ 3 ครั้งด้วยกัน ในประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ช่วงประมาณปลายปี 2564 และต้นปี 2565 ทั้งหมดนี้คือเจตนารมณ์ของความร่วมมือระดับโลกที่จำเป็นต่อการเอาชนะภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของ AMR” แคลร์ บิวรี รองผู้อำนวยการทั่วไปของคณะกรรมาธิการยุโรปด้าน “สุขภาพและความปลอดภัยของอาหาร” (SANTE) กล่าว
ภูมิหลัง:
การประชุมนานาชาติระดับสูงและการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยสหภาพยุโรปภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย หลังจากการประชุม AMR ระดับนานาชาติในประเทศไทยครั้งแรกนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการ 3 ครั้งจะจัดขึ้นติดต่อกันในประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ในหัวข้อ สุขภาพของมนุษย์ สุขภาพสัตว์ และ สิ่งแวดล้อมและการวิจัยและนวัตกรรม ตามลำดับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะสามารถเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หารือเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ และการวิจัยที่สามารถดำเนินการได้ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ
รายละเอียดเพิ่มเติมและการลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมนานาชาติระดับสูงเรื่อง AMR ทางออนไลน์ สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ (รหัสผ่าน: AMRASIA2021)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรปในเรื่อง AMR สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่