EU-Asia จัดประชุมนานาชาติเรื่อง “การดื้อยาฆ่าเชื้อ” หรือ AMR ต้นเหตุคนไทยเสียชีวิตปีละ 38,000 คน คาดอีก 30 ปีจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลก ปีละ 10 ล้านคน

EU-Asia ประสานความร่วมมือ เตรียมจัดการประชุมนานาชาติระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ(AMR) หรือการดื้อยาฆ่าเชื้อเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2564  โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญในยุโรปและเอเชีย และผู้กำหนดนโยบายเพื่อจัดการกับการดื้อยาต้านจุลชีพหรือการดื้อยาฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขที่เร่งด่วนที่สุดในศตวรรษนี้ คาดอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลก ปีละ 10 ล้านคน

การประชุมระดับสูงอียู-เอเชีย เรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (EU-Asia Antimicrobial Resistance (AMR) Conference) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 ตุลาคมนี้ จะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ หรือ AMR จากยุโรป ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เป็นการจัดประชุมนานาชาติในรูปแบบออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติและประสบการณ์ต่างๆ ของนานาประเทศ เสริมสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติในการจัดการกับการดื้อยาต้านจุลชีพ หรือการดื้อยาฆ่าเชื้อ ซึ่งโรคติดเชื้อดื้อยาถือเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยปีละ 38,000 คน

ปัจจุบัน การดื้อยาต้านจุลชีพ(AMR) หรือการดื้อยาฆ่าเชื้อ ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ปรสิต ไวรัส และเชื้อรา มีประสิทธิภาพลดลงเนื่องจากไม่ตอบสนองต่อยาฆ่าเชื้อทั่วไปอีกต่อไป หรือเกิดการดื้อยาฆ่าเชื้อนั่นเอง จากการเก็บข้อมูลพบว่า AMR ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 700,000 คนต่อปีทั่วโลก และคาดว่าหากการจัดการเรื่อง AMR ล้มเหลว ​​ภายในปี 2593 หรืออีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกถึง 10 ล้านคนต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ได้รับผลกระทบในเอเชียและแอฟริกา มากถึง 4.7 และ 4.2 ล้านคนตามลำดับ  โดยในประเทศไทย จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า AMR หรือการดื้อยาฆ่าเชื้อ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 38,000 คนต่อปี และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ. 2560-2564 ขึ้นเพื่อจัดการกับการระบาดใหญ่ของ AMR

“ปัจจุบันผู้ติดเชื้อจำนวนมากเริ่มดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งสภานการณ์นี้  แผนปฏิบัติการของยุโรปเพื่อจัดการเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (European One Health Action Plan against AMR)  จึงเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้การดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) กลายเป็นโรคระบาดใหญ่ระดับโลก โดยการประชุมนานาชาติระดับสูงเรื่อง AMR ครั้งแรกจะจัดขึ้นในประเทศไทยแบบออนไลน์ หลังจากนั้น จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ 3 ครั้งด้วยกัน ในประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ช่วงประมาณปลายปี 2564 และต้นปี 2565 ทั้งหมดนี้คือเจตนารมณ์ของความร่วมมือระดับโลกที่จำเป็นต่อการเอาชนะภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของ AMR” แคลร์ บิวรี รองผู้อำนวยการทั่วไปของคณะกรรมาธิการยุโรปด้าน “สุขภาพและความปลอดภัยของอาหาร” (SANTE) กล่าว

Claire Bury

ภูมิหลัง:

การประชุมนานาชาติระดับสูงและการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยสหภาพยุโรปภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย หลังจากการประชุม AMR ระดับนานาชาติในประเทศไทยครั้งแรกนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการ 3 ครั้งจะจัดขึ้นติดต่อกันในประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ในหัวข้อ สุขภาพของมนุษย์ สุขภาพสัตว์ และ สิ่งแวดล้อมและการวิจัยและนวัตกรรม ตามลำดับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะสามารถเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หารือเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ และการวิจัยที่สามารถดำเนินการได้ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ

รายละเอียดเพิ่มเติมและการลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมนานาชาติระดับสูงเรื่อง AMR ทางออนไลน์ สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่  (รหัสผ่าน: AMRASIA2021)  

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรปในเรื่อง AMR สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่

Related posts