องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเวทีระดมสมอง “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนกับภาคธุรกิจไทย TBCSD ภายใต้วาระแห่งชาติ BCG Model”

องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development หรือ TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute หรือ TEI) ได้จัดงานเสวนา เรื่อง “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนกับภาคธุรกิจไทย TBCSD ภายใต้วาระแห่งชาติ BCG Model” ขึ้น ภายใต้งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” (Thailand Research Expo 2021) ณ ห้อง Lotus Suite 9 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงนักวิจัยและประชาชนผู้ที่สนใจ ได้เข้าใจถึงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยในการลดการใช้ทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนไทยในปัจจุบันว่ามีการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรม อันนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต รวมถึงได้เข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศตามหลักการ BCG Economy Model

            ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า “ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศ ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG Model และการมุ่งไปสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero Emission หรือ Carbon Neutrality ในอนาคต นับได้ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สากลและความยั่งยืนในอนาคต

        โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคธุรกิจนำแนวคิดระบบ BCG มาปรับประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และการดำเนินกิจการของประเทศไทยหลัง COP26 ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายที่เร่งรัดขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผมได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน BCG Model ดังกล่าวโดยการทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการ BCG สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้ BCG Model บรรลุผลตามที่ตั้งไว้ อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ดังนั้น องค์กรภาคธุรกิจไทยจึงควรดำเนินการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ  (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อนำข้อมูลที่ตรงกับบริบทขององค์กรมาใช้ทบทวนการดำเนินงานของธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมองค์กรให้ก้าวสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ หากองค์กรธุรกิจใดสามารถขับเคลื่อนธุรกิจของตนให้เข้าสู่ BCG Economy Model ได้นั้น ก็จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีให้แก่องค์กรภาคธุรกิจไทยอื่น ๆ สามารถนำรูปแบบ

การดำเนินงานที่ดีไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจขององค์กรธุรกิจนั้น ๆ เพราะระบบการขับเคลื่อนธุรกิจควรจะต้องร่วมขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน เพื่อความยั่งยืนในอนาคตนั้นเอง”

        ช่วงของการเสวนาเรื่อง “Circular Economy : เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สร้างสมดุล มุ่งสู่ความยั่งยืน” ได้มีการนำเสนอข้อมูลในหัวข้อย่อย 2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นที่ 1) พลาสติกครบวงจร: รวบรวม จัดเก็บ แยก หมุนเวียน ใช้ประโยชน์”  นำเสนอข้อมูลโดย

นายคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก กล่าวถึง “ข้อมูลภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติก สถานการณ์ขยะพลาสติกของประเทศไทย ประเด็นปัญหาของพลาสติกในปัจจุบันที่เป็นข้อจำกัดในการจัดการพลาสติกให้กลับเข้าสู่ระบบตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ข้อมูลเปรียบเทียบแนวทางการบริหารจัดการพลาสติกหลังการใช้งานของประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ดี เช่น ประเทศญี่ปุ่น และ ประเทศสิงคโปร์ และแนวทางการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึง เสนอแนวคิดการจัดการขยะพลาสติกที่เป็นไปได้ในประเทศไทย อีกด้วย”

ดร.ณัฐกร ไกรกุล ผู้จัดการฝ่าย Circular Economy บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “GC ให้ความสำคัญกับการปรับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยถือเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด มีการหมุนเวียนทรัพยากรที่ไปใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ทิ้งให้เสียเปล่าในทุกกระบวนการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ในมุมของผู้ผลิต พลาสติกที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันช่วยทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น และช่วยป้องกันและยับยั้งการระบาดของเชื้อโรคต่าง ๆ การปรับใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการจัดการสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ และสามารถช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

GC ได้จัดทำ GC’s Circular Economy Framework เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตและขยะที่เกิดจากพลาสติกใช้แล้ว ควบคู่กับปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ผ่าน 3 แนวทางคือ Smart Operating, Responsible Caring, และ Loop Connecting นอกจากนี้ GC ยังมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กร Net Zero ยกระดับการปรับใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างยั่งยืน”

นายกฤษดา เรืองโชติวิทย์ Circular Economy Director ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “ประเทศไทยกำหนดให้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ เอสซีจี เคมิคอลส์ ผู้นำด้านนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทยและในภูมิภาค ASEAN ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง และวัสดุทางการแพทย์ เราเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่อง Circular Economy เป็นรายแรก ๆ ของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน โดยตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น Net Zero ภายในปี 2593 ผ่าน 3 กลยุทธ์ คือ 1. สร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดการจัดการขยะ สามารถนำวัสดุกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด 2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากวัสดุตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์จนถึงกระบวนการผลิต 3.  สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนา Business Model ที่ช่วยส่งเสริม

การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการด้าน Circular Economy สนับสนุนให้เราช่วยตอบโจทย์และเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ UN Sustainable Development Goals อาทิ SDG12: Responsible Consumption and Production, SDG13: Climate Action, SDG17: Partnerships for the Goals”

นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow ในฐานะผู้นำด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการจัดเก็บพลาสติกใช้แล้ว พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สามารถนำพลาสติกใช้แล้วมูลค่าต่ำกลับมารีไซเคิลและใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างสูงสุด ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow ที่ต้องการกำจัดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเกิดได้จริงและอย่างสมบูรณ์นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และผู้บริโภค ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนด้วย BCG ตามนโยบายของภาครัฐ”

และช่วงประเด็นที่ 2) เกษตรและอาหาร: กลไกบริหารจัดการ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน นำเสนอข้อมูลโดย

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ กรรมการปฏิคมหอการค้าไทย และ กรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านเครือข่ายสมาชิกของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เกือบ 115,000 ราย จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนผู้ประกอบการด้านการค้าและบริการ ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการดำเนินงานในปีนี้ จะสร้างโมเดลต้นแบบใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดกระบี่ จังหวัดสมุทรสงคราม (อัมพวา) จังหวัดระยอง และกรุงเทพฯ จากนั้นจะถอดบทเรียนจากพื้นที่ต้นแบบไปขยายผลในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ก่อนขยายไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ จะมีระบบการเก็บข้อมูล การทำตัวชี้วัด การสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเราเชื่อว่าความร่วมมือกันของสมาชิกในเครือข่ายและภาคส่วนต่าง ๆ และการลงมือทำจริง จะก่อให้เกิดการเรียนรู้และขยายผลในวงกว้าง เพื่อตอบทั้งโจทย์ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป”

นายศรชัย กุสันใจ กรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง “ข้อมูลการบริหารจัดการ เพื่อลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดเก็บและการจัดส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ สามารถลดปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารลงได้ 20% จากปี 2561 และยังมีเป้าหมายที่จะลดลงให้ต่ำกว่า 50% ให้ได้ภายในปี 2568 อายิโนะโมะโต๊ะ เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหาร ซึ่งใช้วัตถุดิบหลายชนิดจากภาคการเกษตร อาทิ แป้งมันสำปะหลัง เมล็ดกาแฟ นมวัว ฯลฯ ดังนั้น การควบคุมดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยนำหลักการประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซึ่งเริ่มตั้งแต่การควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ การดูแลเก็บรักษาวัตถุดิบ การควบคุมใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าและเกิดของเสียจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด ไปจนถึงการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในสภาพดีที่สุด นอกจากนี้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร เช่น การบริหารการจัดซื้อวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ การประมาณการใช้วัตถุดิบตามความจำเป็น และการวางแผนการผลิตให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ในตลาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดของเสียจากการหมดอายุของผลิตภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตเกิดของเสียน้อยที่สุด ตลอดจนการควบคุม ดูแลและปรับปรุงการจัดส่งและการกระจายสินค้าเพื่อลดการชำรุดเสียหายของผลิตภัณฑ์จนเกิดเป็นของเสียอีกด้วย”

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจาก UN Environment Programme (UNEP) และอาจารย์ด้านการพัฒนายั่งยืน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ข้อสังเกตจากรายงานล่าสุดของ UNEP เรื่อง “การใช้เทคโนโลยีสีเขียวและดิจิทัล (Green and Digital Technology) ในการลดขยะอาหารในภาคครัวเรือน”

      ที่มาของขยะอาหารภาคครัวเรือนมีความซับซ้อน มาจากหลายปัจจัยที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล (Individual Factors) เช่น ทัศนคติต่ออาหาร ความตื่นตัว ความสามารถในการปรับตัว หรือระดับระบบ (System-Level Factors) เช่น ระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้การศึกษาพฤติกรรมและการเก็บข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการออกแบบนโยบาย

      ปัจจุบันข้อมูลด้านขยะอาหารยังไม่เพียงพอ (Data Gap) เนื่องจากวิธีการเก็บข้อมูลยังเป็นปัญหา ยังขาดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนทำให้การออกแบบนโยบายมีข้อจำกัด

      ความเข้าใจต่อการจัดการขยะอาหารยังเน้นไปที่การกำจัด (Disposal) ซึ่งเป็นมาตรการปลายน้ำที่เป็นลำดับชั้นสุดท้ายใน “Food Waste Hierarchy” โดยต้องมีการส่งเสริมมาตรการป้องกัน (Prevention) หรือมาตรการต้นน้ำมากกว่านี้ผ่านการออกนโยบายหรือการให้ข้อมูลประชาชน

      เทคโนโลยีสำหรับการลดขยะอาหารสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1) “สีเขียว” เช่น การกักเก็บอาหาร 2) “ดิจิทัล” เช่น แอปพลิเคชันแชร์อาหารเหลือ และ 3) “IOT” เช่น บรรจุภัณฑ์และการติดฉลากแบบสมาร์ท

      ต้องพิจารณาประเด็นนี้มากกว่าแค่มิติ “ขยะอาหาร” (Food Waste) แต่เป็น “ของเสียในห่วงโซ่อุปทานอาหาร” (Waste in Food Supply Chain) ซึ่งนอกเหนือจากขยะอาหารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงมลพิษ (CO2, SO2, PM) หรือขยะจากบรรจุภัณฑ์ (พลาสติก โฟม ไมโครพลาสติก) ที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนต่างๆในห่วงโซ่อุปทานอาหาร เช่น การขนส่ง การกักเก็บและแช่เย็น และการปรุงอาหาร

      การใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอต่อการแก้ปัญหานี้ แต่เทคโนโลยีต้องเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่มีความครอบคลุมและสามารถเชื่อมปัจจัยต่าง ๆ เช่น นโยบายและกฎเกณฑ์ มาตรการด้านภาษี การร่วมมือแบบสมัครใจ การให้ข้อมูล และอื่น ๆ โดยจะต้องมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม หรือความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก”

นางสาวเบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและผู้ช่วยเลขาเครือข่ายการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Thai SCP Network) กล่าวว่า “ปัญหาขยะอาหารเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมเมือง ซึ่งเป็นสังคมการบริโภคมากกว่าการผลิต มีพื้นที่น้อย มีความซับซ้อนของสังคมและระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการกำจัดขยะอาหาร จากการศึกษาพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายและแผนการลดขยะอาหารที่ชัดเจน ใช้มาตรการจูงใจและควบคุมให้เกิดการลดและคัดแยกขยะอาหารที่ต้นทาง เตรียมการและทดลองใช้มาตรการควบคุมการทิ้งขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ อาทิ ตลาด ศูนย์อาหาร อาคารชุด ซูเปอร์มาเกต รวมทั้ง ระดมความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตอาหาร จัดจำหน่ายสินค้าอาหาร และให้บริการที่พักและจัดเลี้ยง ในการลดขยะอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่อุตสาหกรรม และเมืองใหญ่ต่าง ๆ”

โดยมีนางสร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ พิธีกรผู้ดำเนินรายการ Smart Energy ช่องไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา การเสวนาในครั้งนี้วิทยากรแต่ละท่านซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในมิติต่าง ๆ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการขับเคลื่อน BCG Model อันนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสมาชิกของ TBCSD องค์กรธุรกิจอื่น ๆ หน่วยงานของรัฐ นักเรียน นักศึกษา และ ประชาชนทั่วไป ที่เข้าร่วมงานเสวนาฯ

Related posts