กนอ.เดินหน้าสร้างโลกเสมือนจริง Digital Twin ในนิคมอุตสาหกรรม หวังสร้างระบบข้อมูลในการแก้ไขปัญหา และช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ขณะที่ กนอ.ครบรอบ 49 ปี พร้อมที่จะเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย
วันที่ 13 ธันวาคม 2564 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยในงาน ฉลองครบรอบ 49 ปี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “49 ปี กนอ. เปลี่ยนเพื่ออนาคต…..สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน : Transform to the Sustainable Future” ว่า ทิศทางการดำเนินงานที่วางเป้าหมายไว้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าสิ่งที่จะเห็นในนิคมอุตสาหกรรมนอกจากการดึงดูดการเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม กนอ.ยังจะให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการจัดทำ Digital Twin ซึ่งเป็นการสร้างโลกนิคมอุตสาหกรรมเสมือนจริงที่จะนำระบบ 5 จี IOT (Internet of Things) หรือการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญในการส่งผ่านข้อมูลให้กับผู้บริหาร
“ข้อมูลที่ถูกเชื่อมโยงจะเป็นข้อมูลสำคัญ เช่น การรักษาความปลอดภัย อัคคีภัย ไฟฟ้า ระบบน้ำปะปา เป็นต้น ซึ่งจะถูกรวบรวมข้อมูลและทำการวิเคราะห์หากมีความสำคัญหรือเกิดปัญหา และข้อมูลก็จะส่งต่อให้กับผู้บริหารในการตัดสินใจแก้ไข การทำระบบโลกเสมือนจริงเป็นผลมาจากการศึกษาหาข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาไฟใหม้ น้ำปะปาขาดแคลน โดยนำมาช่วยแก้ไข”
นอกจากนี้ กนอ.ยังมีเป้าหมายที่จะเดินหน้า โครงการ Facility 4.0 ในการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย Smart Meter การพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเฉพาะด้าน IT Digital และการกระจายอำนาจในการตัดสินใจเพื่อให้เกิดประสิธิภาพมากขึ้น รวมถึงการแสวงหาช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ในระยะยาวอีกด้วย และการจัดตั้งบริษัทลูกที่จะเป็นช่องทางในการสร้างและหารายได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความท้าทายใหม่ ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สภาวะโลกร้อน ปริมาณน้ำฝน และความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติในหลายประเทศ กลายเป็นเรื่องของโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้ จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่
การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด BCG Model ของรัฐบาล ที่ใช้หลักคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างสมดุลมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
สำหรับการขับเคลื่อน กนอ.ในอนาคต จะเน้นเร่งดึงดูดการลงทุน หาช่องทางธุรกิจใหม่ กำหนดแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ แผนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร กนอ. และยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีโครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่
1.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้เร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน โดยดำเนินการประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 และคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และ
2.โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้างกับบริษัทผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 36 เดือน และจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 ต่อไป
ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 65 แห่ง 16 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 51 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 178,891 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 5.27 ล้านล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,019 โรงงาน มีแรงงานสะสม 815,804 คน โดยมีนักลงทุนทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศร่วมลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ กนอ. กล่าวระหว่างร่วมเป็นเกียรติในงานฉลองครบรอบ 49 ปี กนอ. ว่า จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้ กนอ.ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยผ่านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีมาตรฐานจริยธรรม จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ และกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ จำเป็นต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก
นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตผู้ว่าการ กนอ. (ปี 2532-2542) กล่าวว่า กนอ.ประสบความสำเร็จและในการดำเนินงานบนฐานของพันธกิจ ปรัชญาในการดำเนินงาน และหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบบคุณค่า 5E’s ประกอบด้วย มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economy) มุ่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เท่าเทียม (Equitability) มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย (Environment) สร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชน และสังคม (Education) และการเสริมสร้างจริยธรรม คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ (Ethics)
ซึ่ง กนอ.ได้ยึดถือเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานมาโดยตลอด จนทำให้ กนอ.เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่วางกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ส่งผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้า โดยปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการจัดการบนพื้นฐานของเทคโนโลยี ผสานองค์ความรู้และนวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้องค์กรเติบโตยั่งยืน และมุ่งมั่นเป็นองค์กรที่ดีของสังคม
สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อวางรากฐานให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ควบคู่กับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เปรียบเสมือนรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างยั่งยืน