เที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ วันนี้จะพาไปสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนชาวหล่มเก่าที่มีบรรพบุรุษมาจากหลวงพระบางและตั้งบ้านเรือนริมน้ำพุง ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีเรื่องราวที่น่าสนใจหลากหลายมุมไปเริ่มต้นกันที่ “ศูนย์วัฒนธรรมหล่มเก่า” เป็นอาคาร 2 หลัง ที่ใช้จัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตชุมชนของชาวตำบลหล่มเก่าเมื่อครั้งบรรพบุรุษนั้นอพยพมาจากหลวงพระบาง สปป.ลาว สมัยแผ่นดินเมืองราดหรือสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ชาวหลวงพระบางมาตั้งบ้านเรือนใกล้ๆ ลำน้ำพุง ถือว่าเป็นสายน้ำสำคัญสมัยก่อนนู้น!!! ต่อมาผู้นำหมู่บ้านก็ได้เป็นเจ้าเมืองหล่มเก่า พอได้ศึกษาเรื่องราวของชุมชนแล้วก็นั่งรถรางต่อไปสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนรอบหมู่บ้านครับ
มาต่อกันที่วิถีการกินของชาวหลวงพระบางกันนะครับ เพราะมายามเช้าแบบนี้ควรกินขนมเส้นราดด้วยน้ำปลาร้เป็นอาหารท้องถิ่นครับ ขนมเส้นคืออะไร? ขนมเส้นคือขนมจีนนี่ล่ะครับ ทำด้วยแป้งข้าวจ้าวแล้วก็สาวเป็นเส้นๆ จากหม้อดินมีน้ำเดือดปุดๆ สาวเส้นลงใส่ในน้ำเย็น ใส่ถ้วยกินกับน้ำปลาร้า อร่อยดีครับ ต่อมาจึงเรียกขนมจีนตามวชาวไทยที่ก็กินขนมจีนเหมือนกัน แต่บ้านเราเป็นขนมจีนกินกับน้ำยากะทิปลา แกงเขียวหวานไก่/ เนื้อ เป็นต้น นี่แหละที่มาของคำว่า “ขนมจีนหล่มเก่า” เรื่องขนมเส้นกินกับน้ำปลาร้าเมืองหล่มเก่านั้น สมัยก่อนชาวบ้านมักนำไปให้ท่านเจ้าเมืองหล่มเก่าเพราะเจ้าเมืองเป็นชาวหลวงพระบาง ชอบกินขนมเส้นน้ำปลาร้ามากครับ ถ้าหากท่านไปเที่ยวชุมชนบ้านหล่มเก่าที่เพชรบูรณ์ ต้องแวะกินขนมเส้น “ร้านยายหร่าย” สักครั้งนะครับ เป็นร้านประจำชุมชนเก่าแก่ขายมานานถึง 55 ปี สอบถามเส้นทางไปร้านยายหร่าย โทรศัพท์ 056-708063
มาต่อกันที่เรื่องวัดตาลที่จัดว่าน่าสนใจด้วย เดิมเรียก “วัดวังตาล” เชื่อว่าเคยเป็นวังหรือพระตำหนักของพระชายาในพ่อขุนผาเมืองกษัตริย์เมืองราดและตามประวัติศาสตร์ที่ร่วมกันกับพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยางยกกองทัพเข้าตีกรุงสุโขทัยแล้วยึดอำนาจได้ พ่อขุนบางกลางหาวก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของกรุงสุโขทัย พระนามว่า “พ่อศรีอินทราทิตย์” แห่งราชวงศ์พระร่วงพระองค์แรก จึงสันนิษฐานว่าบริเวณนี้เมื่อเป็นวัง ก็เป็นวังของพระชายาสองพระองค์คือเสด็จแม่ปัทมาวดีหรือเจ้าแม่เข็มทองและเจ้าแม่ปทุมวดีพระชายาองค์ที่สองของพ่อขุนผาเมือง ประทับที่วังตาลแห่งนี้ สำหรับ “วังตาลหรือวัดตาล” นี้สันนิษฐานกันเองว่าช่างที่สร้างวัดนี้น่าจะเป็นชาวหลวงพระบาง สปป.ลาว ดูตามพุทธลักษณะน่าจะเป็นศิลปะแบบลาว ประดิษฐานในพระอุโบสถชาวบ้านเรียก “หลวงพ่อใหญ่วัดตาล” เชื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ทุกวันจะมีผู้คนเข้ามาแก้บน เมื่อได้มากราบบูชาขอพรให้ประสบผลสำเร็จ องค์พระพุทธรูปหลวงพ่อใหญ่วัดตาล สร้างด้วยปูนลงรักปิดทองแต่ไม่เต็มองค์ เพราะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ไม่สามารถดำเนินการต่อได้คือท่านเจ้าอาวาสวัดตาลพอจำวัดตอนค่ำๆ หรือเข้านอนจะนิมิตทุกคืนมีชีปะขาวหรือเหล่าเทวดามาบอกไม่ให้ลงรักปิดทองที่องค์พระพุทธรูปลงได้เฉพาะพระพักตร์เท่านั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องแปลกที่เล่าขานกันมา “วัดตาล” ทุกวันนี้เป็นวัดประจำชุมชนของชาวหลวงพระบางอยู่ในตำบลหล่มเก่าและชาวบ้านในตำบลอื่นๆ เข้ามากราบขอพรองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อใหญ่และศาลเจ้าแม่เข็มทองกันมากในทุกวันครับ
ออกเดินทางต่อมา “วัดศรีสุมังค์” กราบบูชาองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อโตประดิษฐานในวิหารและชมเรือแข่งขันของวัดศรีสุมังค์เป็นเรือยาวเหยียดสวยงามใช้แข่งขันช่วงออกพรรษาในลำน้ำพุง
ไปต่อกันที่ “วัดทุ่งธงไชย” ริมน้ำพุง เป็นวัดเก่าแก่ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์และรูปหล่อหลวงปู่โตพรหมรังสีและพระพุทธรูปปางนิพาน วัดทุ่งธงไชย บริเวณลำน้ำพุงใช้จัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวช่วงออกพรรษาของทุกปีในตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
สุดท้ายการท่องเที่ยวตำบลหล่มเก่าครั้งนี้ ผมแนะนำว่าควรพักแรม “โฮมสเตย์สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนชาวบ้านหล่มเก่า” พร้อมกับได้ทำบุญใส่บาตรพระยามเช้า กินอาหารท้องถิ่นอย่างขนมเส้นน้ำปลาร้า ก็เป็นการเพิ่มสีสันรสชาติชีวิตการท่องเที่ยวนะครับ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก โทรศัพท์ 055-252742 ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ขอขอบคุณ ผอ.ญาติกา แก้วบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก ที่ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนชมรมนักข่าวท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นอย่างดีมาก “เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ ถ้าอยากรู้ต้องออกเดินทางไป…กับ…ผมหนุ่ม’สุทน” ขอบคุณและสวัสดีครับ
เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์
แฟนเพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/
#ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทย ทางคลื่นข่าว100.5 fm ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.10-11.00 น.
#ติดต่อวิทยากรด้านการท่องเที่ยวได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก
#เที่ยวเพลิน #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่ม’สุทน #bigmaptravel #Tourism local life ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน