มีโอกาสได้รู้จัก “คุณภัทรพล เทพจักร” จากเคยได้สัมภาษณ์ตอนเป็นนักเขียนเจ้าของนามปากกา อาทิ เอื้อมฟ้า, ภาคิน, ทะเลรุ้ง, ไรยา และ หนึ่งทิวา ซึ่งถ้าหนอนหนังสือเคยเป็น FC ของเจ้าของนามปากกานั้น ๆ คงเคยอ่านกันบ้าง ทว่า วันนี้นักเขียนอยากทำงานรับใช้ประชาชน ในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อตอบแทนคะแนนเสียงที่เลือกตนมาทำหน้าที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอยลาง ประจำเขตบ้านปางต้นฆ้อง ม.1 ต.มะลิกา อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งย้ำว่าจะแก้ปัญหาที่เรื้อรังให้สำเร็จ แต่อาจช้าหน่อยเพราะพิษโควิดระบาดหนักไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ที่คุณภัทรพลลงตรวจเยี่ยมพี่น้องประชาชนทุกวัน
โดยคุณภัทรพล ได้ให้สัมภาษณ์ถึงตำแหน่งหน้าที่ว่า “ปัจจุบันรับราชการตำแหน่ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอยลางครับ เหตุผลที่ลงสมัครเพราะ เนื่องจากผมเคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาก่อนแล้วก็เป็นประธานอสม.ของชุมชนบ้านปางต้นฆ้อง แล้วด้วยความที่เราทำงานจิตอาสา ลงพื้นที่บ่อยมาก ก็เลยมองเห็นปัญหาในชุมชนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหลาย ๆ ด้าน ก็เลยคิดว่า ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ประกอบกับการที่เราเรียนจบพอดี แถมยังได้แรงสนับสนุนจากคนในชุมชน ในเมื่อหลายท่านเห็นว่าเราพร้อมและน่าจะมีศักยภาพพอที่จะแก้ไขปัญหาปากท้องและความต้องการของชาวบ้านได้ก็เลยลองดูครับ
ตอนลงสมัครถามว่าคิดมั้ยว่าจะได้รับเลือก ผม 50 – 50 ครับ ในแวดวงการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นครับ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะผมยังใหม่อยู่ แถมยังเป็นเด็ก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่แถวบ้านผม ส่วนใหญ่นักการเมืองจะอายุ 45-50 อัปขึ้นไป ซึ่งผมก็คิดไว้แล้ว บอกตัวเองทุกวัน ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นประสบการณ์ อีกอย่างต่อให้ไม่ได้ ผมก็ยังเป็นอสม. เป็นจิตอาสา ที่พร้อมจะช่วยเหลือดูแลสุขภาพของคนในชุมชนเหมือนเดิมอยู่แล้วครับ นอกจากทำงานราชการ ผมก็มีทำสวนชา กับสวนกาแฟกับแม่ครับ อันนี้เป็นงานที่ครอบครัวทำอยู่แล้ว ถือว่าเป็นธุรกิจในครัวเรือนของเรา มีรับจ้างทำงานเอกสารบ้าง แล้วก็ขาดไม่ได้คือเขียนนิยายครับ การเขียนนิยายเลิกทำไม่ได้เลย เพราะเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก และ ตอนเด็กมีคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ภัทรพลตอบคำเดียวเลย “อยากเป็นนักเขียนครับ”
กับคำถามที่ว่าผมทำงานราชการแล้วเพื่อนบ้านรู้เขาจะเชื่อถือผมไหม ปัญหานี้หายห่วงเลยครับ จริง ๆ ผมเขียนนิยายพร้อม ๆ กับการเป็นอสม.มานานแล้วครับ ทำงานคู่กันตลอด บางครั้งยังแอบเอาเรื่อง ของอสม.ไปเขียนก็มี ซึ่งชาวบ้านรู้ดีและเขาก็ไม่ได้แอนตี้อะไรเลยนะครับ เวลาเจอผมยังถามเลยเมื่อไหร่นิยายเล่มใหม่จะออก อยากอ่านแล้ว คือเขาแยกแยะออกครับ งานแบบไหนเป็นแบบไหน แถมบางครั้งเรายังได้เอาเรื่องราวในนิยายที่เราอ่าน เราจินตนาการมาเขียนบ้างล่ะ มาปรับใช้กับการทำงานครับ ซึ่งมันก็มีผลลัพธ์ออกมาดีครับ คือผมคิดว่าไม่ว่าจะงานอะไร ถ้าเราเต็มที่กับมันแล้วผลลัพธ์มันออกมาดี อันนี้คือการการันตีการทำงานของเรามากกว่าครับ
ถามว่างานราชการหนักไหม ก็ไม่หนักครับ เพราะมันเป็นงานปกติของเราอยู่แล้ว(ปกติงานอสม.ก็ประมาณนี้ครับ) บางวันมีประชุม ทำโครงการ ตรวจงาน เยี่ยมชาวบ้าน ถามสารทุกข์สุขดิบ แค่เพิ่มจำนวนวันมาอีกหน่อย ปกติมีงานคัดกรองชาวบ้านสองวัน ก็เพิ่มงานประชาคมมาอีก 1 วัน แต่ผมจะมีวิธีจัดการเช่นถ้างานนี้มันมิกซ์กันได้ก็จับมามิกซ์รวมกันไปเลยทีเดียว สำหรับผมงานที่ทำอยู่ผมคิดว่ามันเป็นงานที่สนุกมากกว่าคำว่าหนักหนาสาหัสหรือว่าเหนื่อยนะครับ แล้วผมจะมีความสุขทุกครั้งที่เห็นชาวบ้านของเรามีความสุขกับการที่เราได้ช่วยเขา ส่วนเวลานอนก็เหมือนเดิมครับ เพราะผมเป็นคนนอนดึกอยู่แล้ว เต็มที่สามทุ่มก็นอนแล้วครับ ตีห้าก็ตื่นละ เป็นอย่างนี้ทุกวันครับ
จากที่หันมาทำงานรับใช้ประชาชนเคยมีอะไรที่รับปากแล้วยังทำไม่สำเร็จไหม เรื่องที่รับปากในช่วงหาเสียงไม่มีนะครับ จะมีก็แค่สัญญาใจ คือผมกับชาวบ้านมองตาก็รู้ใจแล้วครับว่า ทุกคนกำลังประสบกับปัญหาอะไร ซึ่ง ณ ตอนนี้ปัญหาที่ชาวบ้านทุกคนประสบอยู่ผมก็กำลังพยายามสะท้อนปัญหาให้ผู้ใหญ่รับทราบและกำลังอยู่ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา อาจจะช้าหน่อยแต่ก็จะพยายามทำให้สำเร็จครับ
สุดท้ายนี้ผมก็อยากจะฝากกับชุมชนของผมทุก ๆ คนที่ให้โอกาสเลือกผมเข้ามา ทุกวันนี้ผมไม่ได้คิดนะครับว่าตัวเองคือ สอบต. มีตำแหน่ง เงินเดือน ไม่ใช่ ผมคิดอยู่เสมอว่า “ผมยังเป็นลูกหลานเป็นพี่เป็นน้องของทุก ๆ ท่าน” เพียงแต่ผมได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนในการพูด ในการเจรจา ในการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ทุกคนเท่านั้น และไม่ต้องห่วงนะครับ ไม่ว่าปัญหาที่ทุกคนเจอมันจะใหญ่หลวง ลำบากแค่ไหน ผมจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนปัญหา สะท้อนมันออกมาให้คนนอกได้รับรู้ และหาแนวทางแก้ไข ผมจะไม่ทำให้ทุกกำลังใจและทุกโอกาสที่ทุกท่านมอบให้สูญเปล่าครับ”