กินเที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ วันนี้จะขออาสาพาเที่ยวที่จังหวัดสุรินทร์หรือเมืองประทายสมันต์กันนั่นเอง
ความเป็นมาของ “เมืองสุรินทร์” นี้ต้องเริ่มกันที่ตอนที่เรามีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ก็มีชาวส่วยหรือกวยหรือกูยอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาจากเมืองจำปาสัก สปป.ลาว มาตั้งบ้านเรือนใกล้ๆ กับแม่น้ำมูลและลำน้ำชีที่ไหลรวมกันกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่จนชาวบ้านเรียก “วังทะลุ” โดยมีผู้นำอพยพชื่อ “ตากลาง” ซึ่งเมื่อตั้งบ้านเรือนแล้วจึงเรียกชื่อ”บ้านตากลาง” ตามชื่อผู้นำนั่นเอง ส่วนเมืองสุรินทร์นั้นสันนิษฐานว่าในปี พ.ศ. 2306 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายครั้งนั้นมีหลวงสุรินทร์ ขออนุญาตเจ้าเมืองพิมายเพื่อขอให้ช่วยขออนุญาตไปที่เมืองหลวงคือกรุงศรีอยุธยาขอตั้งบ้านเรือน ครั้งนั้นจึงได้รับอนุญาตแล้วได้ชื่อว่า “เมืองประทายสมันต์” ต่อมาเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้วเข้ามาแผ่นดินกรุงธนบุรี-กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดฯ พระราชทานเมืองประทายสมันต์ให้ชื่อว่า “เมืองสุรินทร์” ตามชื่อหลวงสุรินทร์แล้วโปรดให้หลวงสุรินทร์ให้เป็น “พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองสุรินทร์ เรียกว่าใครที่สืบเชื้อสายวงศ์วานว่านเครือของพระยาสุรินทร์มานี่ก็ต้องภาคภูมิใจไม่แพ้คนสุรินทร์ในปัจจุบันใช่ไหมล่ะครับ
ถ้าทุกท่านคิดอยากจะไปท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ ผมหนุ่ม’สุทน ขอแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวในตัวเมืองสุรินทร์ก่อนเลยครับเพราะมีสถานที่เที่ยวสำคัญๆ และน่าสนใจแวะชมเที่ยวกันเมื่อมาถึงสุรินทร์
จุดที่ 1 ควรต้องแวะสักการะ “อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” เจ้าเมืองคนแรกของเมืองสุรินทร์ ที่มีผู้คนจากทั่วสารทิศมาขอพรกันมากในทุกวัน ส่วนใหญ่ก็จะขอพรเรื่องการค้าขาย โชคลาภ ความมั่นคงหน้าที่การงานหรือสอบเข้ารับรายการ ส่วนบริเวณด้านขวามีรูปปั้นช้างหลายเชือกที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสุรินทร์กันนั่นล่ะครับ
จุดที่ 2 “วัดชุมพลสุทธาราม” อยู่ริมบึงน้ำถนนสุรินทร์ภักดีตำบลในเมืองจังหวัดสุรินทร์ภายในวัดชุมพลสุทธาราม มีศาลาจางวางประดิษฐาน “พระพุทธรูปปางมารวิชัยและปางนาคปรก” สำหรับกุฏิพระเป็นไม้ขนาดใหญ่อายุ 100 ปี น่าสนใจไปเที่ยวชมมากครับสำหรับนักท่องเที่ยวสายบุญ
จุดที่ 3 มา “วัดกลาง” ในตัวเมืองสุรินทร์วัดกลางเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสุรินทร์มาตั้งแต่ครั้งเป็นเมืองสุรินทร์ภายในวัดกลางมี “หอพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปสี่ภาค” เช่น หลวงพ่อพระใสเมืองหนองคาย หลวงพ่อพระพุทธโสธรเมืองแปดริ้วฉะเชิงเทราและพระพุทธรูปหยกจากเขมรหรือกัมพูชาเป็นต้นและ
จุดที่ 4 ก่อนกลับต้องแวะซื้อของฝากใน “ตลาด 5 ดาว” ข้ามถนนจากวัดกลางถึงตลาด 5 ดาว สำหรับของฝากเลือกซื้อได้ตามใจชอบ เช่น กุนเชียงหมู กุนเชียงปลาสลิด กุนเชียงไก่หมูหรือข้าวหอมมะลิเมืองสุรินทร์ก็น่ากินน่าอร่อยทั้งนั้นเลยครับ
เที่ยวที่สุรินทร์แบบนี้ ก็ชิลล์ๆ สบายๆ ตามที่ผม หนุ่ม’ สุทนแนะนำแล้วพักผ่อนในตัวเมือง 1 คืน พอรุ่งขึ้นเดินทางกลับใช้เส้นทางตัวเมืองสุรินทร์ไปบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ชมการแสดงของช้างในลานแสดงโลกของช้างที่ “ศูนย์คชศึกษา” รอบ 10 โมงเช้าใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วใช้เส้นทางบ้านตากลางมุ้งหน้าไปทางอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์-อำเภอนางรอง ผ่านนครราชสีมาถึงกรุงเทพมหานคร สบายๆ ถึงเวลาประมาณ 19.00 น.
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ โทรศัพท์ 044-514447 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ขอขอบคุณ ผอ.สุชารัตน์ แสงอรุณ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ ที่ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนชมรมนักข่าวท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เดินทางไปทำข่าวเรื่องของการเสวนาช้างกูยคชศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ศูนย์คชศึกษาหรือโลกของช้างเมื่อ วันที่ 12-14 มีนาคม 2565 นั้นในเรื่องราวของหนังสือ E-book ที่หนุ่มพเนจรหรือคุณอภินันท์ บัวหภักดี หัวหน้าโครงการฯผู้จัดทำ E-book คชศาสตร์ชาวกูยจะแล้วเสร็จสิ้นเดือนมีนาคมนี้แน่นอนต้องติดตามกันเองนะจ๊ะ “เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ ถ้าอยากรู้ต้องออกเดินทางไป…กับ…ผมหนุ่ม’สุทน” ขอบคุณและสวัสดีครับ
เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์
แฟนเพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/
#ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทยทางคลื่นข่าว100.5fm ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.
#ติดต่อวิทยากรด้านการท่องเที่ยวได้ที่ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ค
#เที่ยวเพลิน #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน #bigmaptravel #Tourism local life ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน