บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทย จัดงาน “ศาสตร์แห่งแผ่นดินสร้างวิถีสู่อนาคตชาวนาไทย” ภายใต้โครงการ Better Farms, Better Lives 2.0 โดยมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร โดยมี คุณวีรพล เจริญพานิช ผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจครอปซายน์ ประเทศไทย กัมพูชา พม่า บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เป็นผู้มอบผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืชและชุดความปลอดภัย ให้ผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจาก 6 จังหวัด ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คุณกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล กรรมการส่งเสริมกิจการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อดีตอธิบดีกรมการข้าว, คุณอนันต์ ภู่สิทธิกุล ประธานมูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทย และ คุณดวงพร วิธูรจิตต์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท พร้อมเสวนา “การยกระดับนวัตกรรมข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพ” รวมทั้งสาธิตการใช้นวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ เช่น อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อการเกษตร ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานกว่า 100 คน กิจกรรมจัดขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ประจำตำบลสามง่ามท่าโบสถ์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565
สำหรับโครงการ Better Farms, Better Lives 2.0 มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการผลิตและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกร ตามเจตนารมณ์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ที่ได้ริเริ่มโครงการ Better Farms, Better Lives ครั้งที่ 1 ในปี 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต ส่งมอบชุดความรู้ด้านเกษตรปลอดภัย รวมถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรรายย่อยพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 50,000 ราย ประสบความสำเร็จได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากเกษตรกรในเรื่องการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตที่สูงขึ้น บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด จึงดำเนินโครงการ Better Farms, Better Lives ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2565 มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการเพิ่มผลผลิตอย่างมีคุณภาพ แบ่งเบาภาระเกษตรกรด้านต้นทุนการเพาะปลูกที่สูงขึ้น ยกระดับนวัตกรรมจัดการวัชพืชในนาข้าว ขยายพื้นที่เป้าหมายจากภาคกลางไปยังภาคอีสานรวม 11 จังหวัด พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาหว่านน้ำตม ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท พิจิตร ขอนแก่น และนครราชสีมา รวมทั้งสิ้น 26,000 ราย คิดเป็นพื้นที่ 300,000 ไร่ โดยเกษตรกรที่สนใจยังสามารถรับฟังการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและยั่งยืนได้ ผ่านระบบ Zoom เป็นประจำทุกวันจันทร์ เริ่มตั้งแต่ 18 เมษายน 2565 โดยมีเกษตรกรติดตามโครงการ Better Farms, Better Lives 2.0 ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนมาก