เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวปาฐกถาพิเศษปิดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) รุ่นที่ 12 จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ หัวข้อ “สัมมาชีพกับประเทศไทย หัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ” ว่า ถือเป็นครั้งแรกในรอบสองปีที่ได้ออกมาบรรยายกับสาธารณะ นับจากที่พ้นจากภาระหน้าที่ในรัฐบาล เพราะเมื่อพ้นจากหน้าที่แล้วไม่อยากพูดอะไรที่กระทบกระทั่งโดยไม่ตั้งใจ เพราะคิดว่าต้องให้กำลังใจกับคนทำงาน ในครั้งนี้มาบอกเล่าและแสดงความคิดเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ และหวังดีกับบ้านเมืองเพราะใน 2 ปีแม้จะไม่ยาวนักแต่มีหลายเรื่องที่เปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในที่น่าห่วงใยซึ่งคิดว่าทุกคนต้องตระหนักและช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคต โดยสรุป มี 6 ข้อ ที่เป็นความห่วงใยต่ออนาคตประเทศ ได้แก่
1.โลกเผชิญอยู่มีความเสี่ยง และมีความไม่แน่นอนที่สูงมากขึ้นทั้งจากเรื่องของโควิด-19 และความขัดแย้งในเรื่องของรัสเซียและยูเครน ในสองเรื่องนี้เป็นเมฆหมอกความไม่แน่นอนมากขึ้นทุกวัน การจินตนาการในอนาคตยากมาก ทุกฝ่ายต้องเตรียมตัวโดยเฉพาะผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง เพราะถ้าเป็นผู้ที่ดูแลบ้านเมืองต้องคิดล่วงหน้าเสมอ เพื่อประโยชน์ เพราะเป็นหน้าที่ ยกตัวอย่างเรื่องของโควิด-19 ที่ไม่ได้ยุติลงได้ง่าย แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปมากแล้ว เรื่องของโควิดส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมาก และกระทบกับฐานะการเงินการคลังของทุกประเทศ เกือบทุกประเทศตัดสินใจว่าไม่สามารถล็อกดาวน์แต่ต้องมีการบริหารจัดการให้ดี ตอนนี้มีแค่ประเทศจีนประเทศเดียวที่มีความพร้อมที่จะสู้กับโควิด-19 ได้ ขณะที่ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจจะอยู่กับโควิด-19
ส่วนสงครามในยูเครน ไม่สามารถจะยุติได้ง่าย เป็นสงครามที่มีความประสงค์และความมุ่งมั่นของฝ่ายต่างๆ และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ว่าสงครามใหญ่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ยูเครนเป็นแค่หมากตัวแรก อำนาจเดิมยังไม่ยอมที่จะลดลง ส่วนอำนาจใหม่นั้นจะพยายามมีอำนาจขึ้นมา ปัจจุบันการขยายวงไปยังสวีเดน และฟินแลนด์ที่พยายามจะเข้าสู่นาโต้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ตามมา ดังนั้นผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมาจากภาวะสงคราม และโควิด เกิดภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร พลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั้งโลก ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จะตามมาด้วยเรื่องของสังคมและการเมือง
ซึ่งหลายประเทศเกิดจลาจลวุ่นวาย เนื่องจากคนที่ยากจน ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อรัฐบาลดูแลไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาตามมา เช่น ที่เกิดที่บราซิล ศรีลังกา และการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ฟิลิปปินส์ ที่เกิดขึ้นแล้ว
2.ความเสี่ยงในเรื่องการคลัง และความต้องการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากความไม่ปกติ ตั้งแต่เกิดโควิด-19 มา 2 ปี รัฐบาลมีความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก แต่มองไปข้างหน้าหากยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ต้องดูว่าทรัพยากรที่จำกัดจะใช้ได้อย่างไร จะใช้เม็ดเงินทุกส่วนเพื่อฉุดให้ประเทศไทยพ้นปากเหว การช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถที่จะเดินต่อได้ จึงต้องคิดนอกกรอบให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของการคิดนอกกรอบ ไม่ใช่ใช้วิธีแบบเดิมที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเดินต่อได้ดังนั้นเรื่องการคลังเป็นเรื่องใหญ่ เพราะในอนาคตรัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลแน่นอน แต่ที่ผ่านมาการใช้เงินเพื่อดูแลผู้บริโภค ซึ่งทำได้แค่ระยะหนึ่ง แต่นานๆไปความเปราะบางทางการคลังจะมีมาก การบริหารทรัพยากรของประเทศคือเงินในเรื่องงบประมาณ การเงินการคลังจะมีความสำคัญมากเพราะเราเป็นประเทศขนาดเล็ก
ซึ่งในการบริหารเรื่องนี้มี4 หน่วยงานสำคัญคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง ซึ่งในภาะปกติก็ทำตามขั้นตอนปกติได้ แต่ในภาวะไม่ปกติแบบปัจจุบัน 4 หน่วยงานที่เป็นเสาหลักต้องทำงานให้เต็มที่ เป็นหลักในเรื่องการเงินการคลังของประทศ ต้องจัดสรรงบประมาณก่อนหลังตามความจำเป็น และต้องจัดสรรเพื่องบประมาณให้อนาคตเดินไปได้
“สถานการณ์ในขณะนี้ต้อง prepare for the worth เพื่อรองรับสถานการณที่แย่ลง ทั้ง 4 เสาหลักการเงินการคลัง ต้องยืนให้เข้มแข็ง เพราะถ้า 4 หน่วยงานเสียงแข็งพอใครก็เขย่าไม่ได้ ต้องกล้าคิดกล้าเสนอ ไม่ให้การเมืองเป็นตัวกำหนด ต้องกำหนดให้มีทิศทางร่วมกัน ทำให้เกิดการจัดลำดับที่ดีที่สุด เพราะการกู้ยืมเงินเพิ่มทำได้ แต่ดอกเบี้ยสูง ที่จะเจอต่อไปคือภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานมีน้อย ข้าวยากหมากแพงเกิดขึ้นแล้ว เรื่องนี้อาจพูดว่ามาจากปัจจัยภายนอกแต่ต้องบริหารจัดการ ไม่มีคำว่า Free flow ไม่อย่างนั้นเงินเฟ้อจะขึ้นไปเรื่อยๆ หากไม่มีการบริหารจัดการ หากเกิดภาวะระยะยาวที่เงินเฟ้อขึ้นไปแล้วไม่ลง มีเรื่องการดึงฐานการผลิตกลับประเทศตัวเองจากการหยุดงะงักของซัพพายเชนได้อีก”
3.การพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกมากเกินไปจะเกิดปัญหา เนื่องจากลมเศรษฐกิจภายนอกไม่ดีทั้งการค้า และการท่องเที่ยว ไทยต้องปรับโหมดในการขับเคลื่อนและการพัฒนา จากเดิมที่อาศัยปัจจัยภายนอก ปัจจุบันเศรษฐกิจภายนอกไม่ดีส่งผลกระทบทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว การสร้างความเข้มแข็งจากภายในมีความจำเป็นมาก การกระจายอำนาจ การกระจายการคลัง และกระจายงบประมาณ อย่าให้งบประมาณกระจุกตัวทั้งในเรื่องของงบประมาณ และอำนาจ รวมทั้งการคลังไปยังท้องถิ่น ควบคู่กับการลดกฎระเบียบที่ล้าสมัย
ในระยะต่อไปโฟกัสของกิจกรรมทางเศรฐกิจ ต้องโฟกัสภายใน เช่น การสร้างแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจภายใน และการสร้างเศรษฐกิจภายใน เพื่อสร้างงานในพื้นที่ชนบทให้มากขึ้น กระทรวงที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นอาวุธเศรษฐกิจของประเทศไทยได้คือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องปรับจากการปกครองชุมชน เป็นการพัฒนา เพราะกลไกของมหาดไทยนั้นลงไปถึงหมู่บ้าน เพื่อสร้างการพัฒนาเชื่อมโยงจากหมู่บ้าน ไปสู่จังหวัด เหมือนในจีนให้คนที่เก่งที่สุดไปอยู่ในพื้นที่ที่ยากจนที่สุด เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ
4.ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเราเริ่มถดถอยแข่งขันไม่ได้กับหลายประเทศในอาเซียน ยกตัวอย่าง ในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะเข้ามานั้นเรามีความพร้อมหรือไม่ อินโดนิเซีย ได้เปรียบมากในเรื่องวัตถุดิบและตลาด แต่ของไทยนั้นยังช้าเนื่องจากการตัดสินใจที่ช้าของค่ายรถญี่ปุ่น ทำให้ไทยเปลี่ยนแปลงช้าไปด้วย
ส่วนในเรื่องความสามารถในการแข่งขันที่เคยทำในเรื่องอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ และทำในเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องถามว่าตอนนี้ใครรับผิดชอบ ใครกำกับทิศทาง ใครดูแล จะไปอาศัยท่านนายกรัฐมนตรีคนเดียวก็มไม่ได้ เรื่องการดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย การดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาลงทุนในไทยก็ยังล่าช้า แล้วเราจะปรับเปลี่ยนอย่างไร
5.การมีบทบาทของไทยในเวทีโลกของไทย ปัจจุบันจุดยืน และข้อเสนอใหม่ๆของไทยในภูมิภาคอาเซียนเบาบางลงไปมากการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนของไทยก็ลดบทบาทลง ซึ่งจะส่งผลต่อการโน้มน้าวการเข้ามาลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ของไทยในอนาคตทำได้ยาก สิ่งที่ต้องทบทวนและตั้งคำถามก็คือปัจจุบันเรายังมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ มีบทบาทในอาเซียนหรือไม่ ในเรื่องนี้ต้องเร่งช่วยกันทำให้เข้มแข็งขึ้น ก่อนที่จะถูกมองข้ามจากนานาชาติ
และ 6. การขาดพลังในการรวมกันภายในชาติอย่างมีเอกภาพ ปัจจุบันความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อธรรมาภิบาล ความเชื่อมั่น เชื่อถือ และเชื่อใจ ของประชาชนต่อรัฐลดลง และหากไม่มีสิ่งเหล่านี้การทำงานก็จะทำงานได้ยากมาก เพราะจะถูกตั้งคำถามทำให้การทำงานของภาครัฐไม่สามารถทำได้ และพลังงานในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาประเทศขับเคลื่อนได้ยาก และกรรมก็จะเกิดกับประชาชน
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือเราต้องหยุดวิกฤติที่จะนำไปสู่ความแตกแยกในความคิด ที่มาจากความขัดแย้งทางการเมือง และความแตกแยกต่างที่จะทำให้เกิดปัญหา เช่น ในเรื่องการจงใจให้ข้อมูลเท็จ ให้ข้อมูลที่บิดเบือน ให้ร้ายกับอีกฝ่ายหนึ่ง (disinformation) ทำให้เกิดความแตกแยกแบ่งเป็นขั้วที่เป็นปฏิปักษ์อยู่ร่วมกันไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถระดมความคิด ความสามารถมาร่วมกันพัฒนาประเทศได้
นายสมคิด กล่าวต่อว่าในภาวะแบบนี้การจะแก้ปัญหา ใช้อัศวินม้าขาว เพียงคนเดียวไม่ได้ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาและช่วยกันวางแผนรับมืออนาคตที่ไม่แน่นอน โดยต้องให้ความสำคัญใน 3 เรื่องคือ
1.การเมือง ถ้าการเมืองดีประเทศก็จะดี เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้น เพราะถ้าการเมืองดีประเทศก็จะดี การเมืองที่ขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ ควรพักไว้ก่อน การเมืองที่ดีต้องเน้นสายกลาง ตามที่ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ กล่าว ที่ให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามาพูคุย เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายคนให้ความสนับสนุน เพราะคนไม่ต้องการความขัดแย้งแล้ว คนต้องการทางออก ต้องการพลังในการสร้างสรรค์ ต้องใช้แนวทางสายกลางที่มีปัญญาในการใช้เข้ากับบริบทของประเทศนั้นๆ
2.สภาวะผู้นำการเมืองที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่มีความเข้มแข็งอย่างเหมา เจ๋อตุง ที่สร้างชาติได้ แต่การบริหารจัดการก็ใช้ผู้นำอีกหลายคน และมาถึงสี จิ้นผิง ที่เป็นประธานาธิบดีที่แก้ปัญหาความยากจนลงไปถึงระดับหมู่บ้าน เท่ากับว่าผู้นำในแต่ละสถานการณ์ต่างกัน ผู้นำในภาวะไม่ปกติ ต้องมีความเคลียร์ที่ชัดเจน ต้องสื่อสารให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ และเกิดพลังของคนในประเทศ ตัดสินใจได้ชัดเจน และมีเจตจำนงทางการเมือง (Political view) ต้องชัดเจน เพราะการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสม และถ้าจัดสรรผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างเดียวสุดท้ายและจะไม่มีพลังในการขับเคลื่อน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเขยื้อนภูเขาไม่ได้
และ 3.ความสำคัญของภาคประชาชน ก็คือคนที่ทำสัมมาชีพ ทำอาชีพที่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ ยกระดับไปสู่การเป็นพลเมืองที่สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้