สกู๊ปพิเศษ
“นันทนา วีระชน” ฉายา “นักเขียนมือทอง” เกษียณงานเขียนหันมารับตัดชุดสร้างสุขตัวเอง
นี่คือบทสัมภาษณ์ที่รอคอยและสมค่าการรอ นักเขียนเจ้าของฉายา “นักเขียนมือทอง” ที่โลดแล่นในวงการนวนิยายและละครทีวีมาอย่างยาวนาน สำหรับ พี่ป๊อก “นันทนา วีระชน” ในวัย 70 ปี ที่เกษียณจากการทำงาน ทั้งด้านการเขียนนวนิยายและเขียนบทละครโทรทัศน์ ซึ่งตัวเรามีโอกาสแสดงละครที่เป็นงานเขียนของพี่ป๊อกเรื่อง “ลูกสาวกำนัน” ซึ่งสร้างเรตติ้งสูงให้ทางช่อง 7 ขอขอบคุณพี่ป๊อกที่สละเวลาตอบสัมภาษณ์ทั้งที่มีงานใหม่ที่รัก อย่างตัดชุด ซึ่งท่านใดสนใจแอดไลน์พี่ป๊อกได้ 081-6110865 นอกจากนี้พี่ป๊อกยังได้ให้คำแนะนำนักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องการนำเสนอผลงานในรูปแบบที่แตกยอดด้วย โดยพี่ป๊อกเปิดใจถึงการก้าวสู่ชีวิตนักเขียนและตัดสินใจเกษียณตัวเองเพื่อหาความสุขในบั้นปลายกับคู่ชีวิตว่า…
“อาป๊อกเริ่มงานเขียนเมื่ออายุ 17 โดยเริ่มเขียนกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บทภาพยนต์ และบทละครโทรทัศน์ โดยเขียนนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกชื่อ “นิราศโพนพิสัย” ในนิตยสารสตรีสาร เป็นนวนิยายเพื่อชีวิต ปีต่อมาจึงเขียน “พุนกยูง” เป็นนวนิยายเพื่อชีวิตที่เกี่ยวกับการต่อสู้ของนักปฏิรูป แล้วจึงเบนเข็มมาเขียนนวนิยายเริงรมย์เรื่อง “หนามเสน่หา” ในนิตยสารดรุณี จากนั้นก็ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานในโลกวรรณกรรม มีภาพยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบทประพันธ์ของ “นันทนา วีระชน” ในยุคนั้นและประสบความสำเร็จจนปัจจุบันกลายเป็นตำนานของวงการบันเทิง ซึ่งชีวิตของการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน มีส่วนทำให้ชื่อเสียงของ “นันทนา วีระชน” ได้รับการจดจำจารึก ว่าเป็น “นักเขียนมือทอง” ในยุคที่วงการวรรณกรรมและวงการบันเทิงอยู่ใกล้ชิดกัน เป็นคนที่ทำงานทุกวันโดยไม่มีวันหยุด โดยมองหาประเด็นจากผู้คนในสังคมมาเล่าเรื่อง โดยใช้มุมมองของผู้หญิงนักสู้ที่มองผ่านผู้ชาย เป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจ ทำวันที่มีโอกาสให้รุ่งโรจน์ ไม่เคยยอมให้โอกาสหลุดลอยไป และตลอดเวลาการเดินทางและการต่อสู้ไม่เคยยอมแพ้ เป็นนักเขียนเล็ก ๆ ที่เดินขายเรื่องทุกวัน และมองหา “ที่ยืน” อันเป็นสง่าแก่อาชีพนักประพันธ์ของตนเอง ทำให้เป็นเชิงพาณิชย์ เพื่อที่จะได้ก้าวยาว ๆ ไป เคยได้ฉายาว่าเป็น ‘แมว 9 ชีวิต’ เพราะล้มลุกคลุกฝุ่นมากับการเป็นนักเขียนมาอย่างสาหัส
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ “นันทนา วีระชน” ได้รับการนำเสนอและดัดแปลงสู่สายตาประชาชนหลายครั้งคือนวนิยายเรื่อง ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท / แรงเงา / เมียแต่ง / สะใภ้ / ดงดอกไม้ / รักนี้..หัวใจเราจอง และอื่น ๆ อีกมากมาย ได้มีโอกาสเขียนบทละครโทรทัศน์ควบคู่กับงานเขียนนวนิยาย ได้มีโอกาสร่วมงานในฐานะ “ผู้เขียนบท” กับบริษัท ดาวเรืองสตูดิโอ-อัครเศรณีโปรดักชั่น และบริษัทสามเศียร ก่อนเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 68 ปี และใช้ชีวิตในอีกหลายบทบาทที่ไม่นับความสำเร็จและเงินเป็นโจทย์ แต่นับเอามวลความสุขของชีวิตและวัยเป็นคำตอบของชีวิต
อาป๊อกมีข้อแนะนำนักเขียนรุ่นใหม่ที่ต้องการนำเสนอผลงานในรูปที่แตกยอดไปจาก “นวนิยาย” ต้องนำเสนอทุกช่องทางที่จะทำให้การเล่าเรื่องของเราน่าสนใจ ปัจจุบันการนำเสนอผลงานง่ายกว่าเมื่อก่อน ไม่ต้องสืบหาบ้านคนทำละครแล้วเดินไปกดกริ่งที่ประตูเพื่อเล่าเรื่องที่เราต้องการนำเสนอ แต่มีช่องทางทางโซเซียล ซึ่งทำได้ดีและเหมาะสม อยู่ที่คุณแล้วละที่จะทำยังไงให้น่าสนใจและโดดเด่นกว่าอีกร้อยเรื่องในแฟ้มเก็บเรื่องย่อ ในอดีตอาป๊อกเป็นเพียงเด็กหญิงผมเปียที่มีเรื่องเล่า ไปยืนเล่าหน้าประตูรั้วบ้านคนทำละคร ถ้าเขาสนใจเขาก็จะเปิดประตูรับเรื่องของเรา แต่นั่นหมายความว่าเรื่องของเราต้องแตกต่าง ณ เวลานั้น ซึ่งมันเป็นความรู้สึกง่าย ๆ ของความอยาก..คืออยากได้เห็นเรื่องถูกเล่าเป็นภาพ มันเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่แตกยอด-ต่อเนื่องและให้อะไรแก่ใจ นักเขียนสมัยที่อาป๊อกเป็นก็ดิ้นรนต่อสู้เพื่อจะนำเสนองาน ส่วนโอกาสที่มาถึงก็จะพาเราไปพบสิ่งใหม่ ๆ เช่นการเขียนบทภาพยนต์ การเขียนบทละครโทรทัศน์ การกำกับฯ ซึ่งเป็นงานที่ยากยิ่ง แตกต่าง และเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้คนอีกมากมายที่เรียกว่า “กองถ่าย” ที่นี่ทุกคนมีสิทธิ์วิพากษ์บทที่คุณเขียน และคุณต้องรับผิดชอบทันทีที่งานชิ้นนั้นประสบความล้มเหลว เขาจะตัดสินว่าเพราะบทมัน “ไม่ดี”
อาป๊อกถูกงาน “เขียนบท” เขย่าขวัญสั่นประสาทมาหลายสิบปี วันนี้เมื่อถึงวัยเกษียณฯ จึงทำส้มตำ ตัดเสื้อผ้า เลี้ยงไก่ ทำขนมขาย แล้วรวมเงินทั้งหมดไปบริจาคให้เด็กด้อยโอกาส ผู้ป่วย และคนยากไร้ ชีวิตเรา ๆ ทำงานเพื่อตอบโจทย์ชีวิตคิดว่าเงินมาแล้วความสุขจะมาด้วย จริง ๆ แล้วสองสิ่งนี้ไม่เคยไปไหนมาไหนด้วยกัน อาป๊อกจึงอยากเล่าให้นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ฟังว่าการเป็นนักเขียนนวนิยายนั้นทรงความภาคภูมิตรงที่ “งาน” จะบอกกล่าวและแนะนำคนเขียน ต้องมีวินัยไม่มีสิ่งนี้คุณจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ และเมื่อมีชื่อเสียงคุณต้องมีวิธีทำให้ชื่อเสียงคงอยู่ด้วยการเล่าเรื่องอย่างสม่ำเสมอ มีสิ่งใหม่ ๆ มาเล่า และสำคัญที่สุดต้องเล่าให้คนฟังได้ยิน ทำให้เขาสนใจเรื่องของคุณได้ต้องแตกต่างและโดนใจ พอเราแก่ลงก็หลุดพ้นจากวงจรของชื่อเสียง-เงินตรา-ภาระรับผิดชอบ-การตื่นตีสี่แล้วคิดว่าวันนี้เราจะเขียนอะไร..ก็ตื่นสายได้ นอนกลางวันได้ เดินไปดูไก่หรือต้นไม้ได้ วันนี้อาป๊อกอายุ 70 ปี ไม่มีอะไรที่ไม่เคยทำไม่ว่าความดีหรือความชั่ว มันทำไปตามวันวัยและโอกาสที่ผ่าน วันนี้อยู่บ้านในป่าหลังเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องใช้เงินดูแลรักษามาก ลดตัวเองให้เล็กลงเพื่อไม่ต้องแบกรับน้ำหนัก แล้วอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น เข้าไปหาคนจิตใจดี ๆ เพื่อเป็นเพื่อนเขา คนเหล่านี้จะส่งสัญญานดี ๆ มาให้แก่จิตใจของเรา การใช้ชีวิตบั้นปลายที่ดอยสะเก็ดเป็นแผนสำรอง เราปลูกป่าไว้บนพื้นที่เล็ก ๆ มีสักทอง ยางนา พะยูง ไม้แดงและมะฮอกกานี อาป๊อกไปวัดน้อยมากแต่พยายามอยู่กับตัวเองให้มีความสุข เพราะขณะหนึ่งเรามักถามตัวเองว่า “ทำไมเราไม่เข้าวัด” เราแปลกไปจากชาวพุทธคนอื่นหรือไม่ บาปมั๊ย นรกอยูในใจเราป่ะ
ปัจจุบันนอกจากจะไม่เขียนอะไรแล้ว ก็เลิกสนใจว่าโลกและผู้คนจะเป็นยังไง สนองตอบความฝันที่ฝันมาทั้งชีวิตของการเป็นนักเขียนนวนิยาย “ฉันจะไม่เขียนอะไรเพื่อเงิน..เพราะฉันหามันมาชั่วชีวิตแล้ว” ฉันจะเลี้ยงปลา ตัดเสื้อผ้า ทำบราวนี่ขาย เก็บมัลเบอร์รีในสวนมาทำแยมมัลเบอร์รี กูจะใช้ชีวิตแบบเมื่อตอนอายุ 18 กูไม่เคยได้ใช้ เพราะตอนนั้นต้องหาทั้งเงินและชื่อเสียง ตอนนี้คุณมาจ้างให้เราไปทำอะไร เท่าไหร่เราก็ไม่ไป เพราะฉันอยากจะตัดเสื้อผ้า อยากเป็นช่างตัดเสื้อ ไปเรียนมาจากวิทยาลัยสารพัดช่างสุพรรณบุรี จนตัดชุดลำลองของผู้สูงวัยขายไปเกือบ 200 ชุด ผ่านช่องทางออนไลน์และ fc อาป๊อกขอเล่าถึงชีวิตปัจจุบันที่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะทำร้านอาหาร ร้านกาแฟ ทำแบรนด์น้ำพริก ปลาร้าปรุงรส ทำขนม หรือแม้แต่การตัดเสื้อผ้า พบว่างานทุกอย่างมันยากต่าง ๆ ปัญหากันไป ทำร้านอาหารก็พบว่าอร่อยของเราไม่เหมือนอร่อยของคนส่วนใหญ่ ตัดเสื้อผ้าก็เราต้องใส่หลวมใส่สบาย แต่คุณลูกค้าต้องหลวมพอดีตัว นอกจากงานเขียนและเขียนบทอาป๊อกก็ประสบความล้มเหลวในทุกสาขาอาชีพ เพียงแต่เราเห็นเป็นเรื่องขำ ๆ กัน ลูกชายเคยบอกว่า “อยู่ให้สบาย ๆ อย่าคิดโปรเจกต์ใหม่ ๆ ละกัน” ลูกชายเคยซื้อจักรเย็บผ้าให้ และได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทำเงินเลี้ยงชีวิตแม่ในบั้นปลาย ขอบคุณที่ยื่นเบ็ดให้แก่แม่
ปัจจุบันอาป๊อกใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อยู่กันสองคนกับสามี ทำเกษตรขนาดเล็ก ปลูกป่าและพืชผักเพื่อการยังชีพ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งฝอย คนรอบข้างที่เป็นเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่คนทำสวนก็ไม่รู้ว่าเป็น “นันทนา วีระชน” แต่คิดว่าเป็นข้าราชการเกษียณอายุสองคนมาจากกรุงเทพฯ เราเลี้ยงไก่ 7 ตัวเพื่อเอาไข่เป็นอาหาร เลี้ยงปลาตะเพียนซึ่งเป็นปลากินพืช และเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อเดียวกัน ปีนี้ป่าที่เราปลูกจะให้เห็ดเป็นอาหาร มีทั้งรังผึ้ง ไข่มดแดง และอีกไม่นานไม้ผลที่ปลูกไว้ กล้วย, มะละกอ, ฝรั่ง, เสาวรส, มัลเบอร์รีก็จะออกมาเป็นรายได้เลี้ยงคนชราสองคน เรามีบ้านสวนเกษตรที่รับรองนักท่องเที่ยวมาเยือนในฤดูหนาวได้ 10ท่าน มีที่กางเต้นท์และถ่ายรูป เหมาะสำหรับผู้ชราและผู้ปฏิบัติธรรม ที่นี่สงบ-สะอาด ไม่เหมาะกับคนรุ่นใหม่เพราะอยู่ไกลย่านเมืองเชียงใหม่ 10 กิโล เราสองคนทำอาหารและงานบริการเอง ขอให้ผู้มาพักคิดว่ามาบ้านญาติ ส่วนปัจจัยที่เราสะสมตอนนี้คือความสุข ได้แบ่งปันและได้รับน้ำใจจากคนเป็นเพื่อนบ้าน ขอบคุณกัลยาณมิตร fc ที่เอ็นดูและดูแลอุดหนุนเราเสมอ
และความฝันใหม่ คือฝันจะได้เข้าไปสอนหลักสูตรเพื่องานอาชีพหลังพ้นโทษ คือ “การตัดชุดลำลองแบบง่ายๆ” ให้แก่นักโทษหญิงในเรือนจำ เพื่อพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์เป็นอาชีพหลังพ้นโทษ และเป็นคนดีของสังคมต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจสั่งตัดชุดลำลองได้ที่ id 081-6110865 ขอบคุณค่ะ”