นายพิกิฐ ศรีชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า หลังได้ร่วมงานสัมมนา”บุกตลาดตะวันออกกลาง 2022” ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มบริษัทอักษรา ภายใต้การนำของ คุณอักษราภัค ปรัชญากุลวรา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทอักษรา และในฐานะสมาคมการค้าผู้ผลิตผู้ส่งออกเอเชียตะวันออกกลาง ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนางานด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์วัฒนธรรมและบริการทางวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพ 5F ซึ่งประกอบด้วย อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และ การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival)
สำหรับนโยบายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาสินค้าและบริการในห้าหมวดหมู่ข้างต้นให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและลูกค้าทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งยังมีโครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand: CPOT) นำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยในรูปแบบใหม่ และโครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product of Thailand – CCPOT) สู่สากล มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสินค้าและบริการของชุมชนในภาพลักษณ์ใหม่ต่างประเทศ โดยเน้นการใช้ทุนชุมชนที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นที่สนใจของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ
ขณะเดียวกัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า การสร้างเศรษฐกิจทางวัฒนธรรมเพื่อเป็นการต่อยอดให้เกิดรายได้โดยใช้ชุมชนในประเทศผ่านรูปแบบของวัฒนธรรมในการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งมวยไทย นวดแผนไทย มโนราห์ โขน สิ่งเหล่านี้สามารถทำเป็นซอฟพาวเวอร์ (Soft Power) ต่อยอดให้กับกระทรวงวัฒนธรรมที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศไทยได้อย่างมหาศาล ประกอบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ผลผลิตของกระทรวงวัฒนธรรมที่ส่งไปยังตะวันออกกลางยังมีน้อย ทั้งนี้ ถือเป็นการดีที่ซาอุดิอาระเบียได้เปิดให้ประเทศไทยได้เข้าไปส่งเสริมการค้าขายได้ ดังนั้น การนำต้นทุนทางวัฒนธรรมไทยเข้าไปในตะวันออกกลางให้มากขึ้น ถือเป็นการลงทุนที่ต่ำ ไม่ต้องผลิตสินค้า