ตำรวจไซเบอร์ ทลายเครือข่ายหลอกลงทุน Turtle fram โรงเพาะเห็ด ปลูกกัญชา พืชกระท่อม เลี้ยงผึ้ง ผู้เสียหายกว่า 2,000 ราย เสียหายรวม 1,200 ล้าน

               เมื่อวันที่ 5 ส.ค.65 เวลาประมาณ 10.00 น. กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ภายใต้การนำของ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สอท.. พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท.. พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท..พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผบก.สอท. 1, พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง ผบก.สอท.3 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าวกรณีการทลายเครือข่ายหลอกลงทุน Turtle Farm เจ้าหน้าที่ตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ มีรายละเอียดดังนี้

               ก่อนเกิดเหตุเมื่อประมาณเดือน พ.ย.64 ผู้ต้องหากับพวก ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทฯ โดยได้สร้างโรงเพาะเห็ดขึ้นมาหลายโรง ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สกลนคร ไว้เพื่อหลอกลวงชักชวนประชาชนให้มาร่วมลงทุนต่างๆ ได้แก่ การเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่ ปลูกกัญชา พืชกระท่อม และเลี้ยงผึ้ง ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยอ้างว่าผู้ที่เข้าร่วมลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง แต่มีเงื่อนระยะเวลาในการลงทุน เช่น หากลงทุนเป็นจำนวนเงิน 132,000 บาท จะได้รับผลตอบแทนหลังจากลงทุนไปแล้ว 4 เดือน ในอัตราเดือนละ 53,200 บาท ทุกๆ เดือน เป็นระยะเวลา 7 ปี โดยมีการสร้างความน่าเชื่อถือโดยการทำสัญญาระหว่างผู้ร่วมลงทุนกับผู้ต้องหา มีการใช้บุคคลสำคัญ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมโฆษณาชักชวน มีการสร้างภาพว่าฟาร์มดังกล่าวได้รับรางวัล ทำให้ผู้เสียหายรายหลายหลงเชื่อ และนำเงินมาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในบางรายเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้าย บางรายต้องเอาทรัพย์สินไปจำนองเพื่อให้ได้เงินมาลงทุน ถือว่าเป็นการซ้ำเดิมความเดือดร้อนของพี่น้องประซาชน

               ต่อมาผู้ต้องหากับพวกอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ ไม่สามรถจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้เสียหายได้ และไม่สามารถติดต่อได้ในเวลาต่อมา ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวง จึงมาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย

               กระทั่งเมื่อวันที่ 2 ส.ค.65 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท.ได้สืบสวนสอบสวนและรวมพยานหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสกลนคร ขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 8 ราย ในข้อหา

                    1.ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน

100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ),

                    2.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พรก.การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4. 5, 12 (มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี-10 ปี ปรับตั้งแต่ 500,000 บาท-1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่)

                    3.และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พี่น้องประชาชน “ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

               ผลการปฏิบัติที่ผ่านมาสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 ราย คือ ผู้ต้องหาหญิง 3 ราย ในระหว่างวันที่ 3-4 ส.ค.65 ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สกลนคร ตรวจยึดของกลางภายในบริษัท และบ้านผู้ต้องหากว่า 200 รายการ นอกจากนี้แล้วยังได้รับรายงานเพิ่มเดิมว่าในวันนี้จะมีผู้ต้องหาอีก 1 ราย ขอเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อมอบตัว

               ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาที่หลบหนีออกนอกราชอาณาจักร จะมีหนังสือแจ้งไปยังกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อที่จะประสานกับองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ดำเนินการประกาศตำรวจสากลสีแดง หรือ INTERPOL Red Notice ให้ติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมระบุที่หมายแจ้งไปยังประเทศสมาชิกองค์การตำรวจสากล ทั้ง 194 ประเทศ เพื่อให้ทราบว่าบุคคลดังกล่าว เป็นบุคคลที่ทางการไทย ต้องการตัวกลับมาดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยต่อไป

               อนึ่ง จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหารายสำคัญ เคยก่อเหตุมาแล้วในหลายคดี มีการเปลี่ยนแปลงซื่อนามสกุลตนเองหลายครั้ง และมีการเปลี่ยนแปลงตำหนิรูปพรรณตนเองเพื่อสะดวกในกระทำความผิด หรือเพื่อการหลบหนีอีกด้วย

               ทั้งนี้ การปฏิบัติการของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.,) ยังคงมุ่งเน้นที่จะ ดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม คำนึงถึงความเดือดร้อน และการอำนวยความยุติธรรมของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ

Related posts