ศิลป์แผ่นดิน : พระที่นั่งอนันตสมาคมฃ
หากใครพลาดไม่ได้เข้าเยี่ยมชม ” พระที่นั่งอนันตสมาคม “ นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยื่ง เพราะตอนนี้ พระที่นั่งอนันตสมาคม จะปิดซ่อมแซมทั้งด้านนอกและด้านในพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60 เป็นต้นไปไม่มีกำหนด ส่วนสิ่งของที่จัดแสดงในพระที่นั่งอนันตสมาคม จะมีการเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงชั่วคราวที่เกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจะเปิดให้เข้าชมที่เกาะเกิดได้ประมาณเดือน ก.พ.2561
ประวัติพระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นมาแบบสถาปัตยกรรม แบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ (Italian Renaissance)และแบบนีโอคลาสสิก (Neo Classic) ภายนอกประดับด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา (Carara) ประเทศอิตาลี องค์พระที่นั่งเป็นอาคารหินอ่อนสองชั้น มีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆ โดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม ส่วนกว้างขององค์พระที่นั่ง ประมาณได้ 47.49 ม. ส่วนยาวประมาณ 112.50 ม. และส่วนสูงประมาณ 47.49 ม.
การก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมดำเนินมาถึงปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อตามพระราชประสงค์ ในที่สุดก็สำเร็จบริบูรณ์ในพุทธศักราช 2458 ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 8 ปี งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 18 ล้านบาท
ภายในพระที่นั่ง มีภาพเขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี. รีโกลีและศาสตราจารย์ แกลิเลโอ กินี จำนวน 6 ภาพ บนเพดานโดมอื่นๆ มีการตกแต่งด้วยลวดลายอักษรพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 (จปร.)และอักษรพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (วปร.) รวมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ครุฑ พญานาค และช้างเอราวัณ ประดับอยู่ท่ามกลางลวดลายธรรมชาติ นกป่านานาชนิด ภาพเด็กไทยกับฝรั่งที่เขียนอย่างวิจิตร บริเวณของระเบียงโดมกลาง มีภาพเขียนแนวนวศิลป (Art Nuveau) เป็นรูปผู้หญิงแต่งกายแบบยุโรป ยืนถือพวงมาลัยดอกไม้ล้อมรอบเป็นวงกลมอย่างสวยงาม
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 พระที่นั่งอนันสมาคมได้ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีบางอย่าง ตามพระพระราชประสงค์เดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และยังได้เป็นที่ประชุมสภาด้วย
เพดานโดมทางด้านทิศเหนือ แสดงภาพเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมัยเมื่อยังดำรงพระยศสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพเมืองเขมร บรรดาพสกนิกรทั้งหลายพากันไปกราบบังคมทูลอัญเชิญ ให้ทรงรับราชสมบัติปกครองแผ่นดินอันนับเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี
เพดานด้านใต้ของโดมทิศตะวันออก แสดงภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ด้านหลังเป็นการก่อสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่ทรงพระราชดำริสร้างเพิ่มเติมให้สูงใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนครหลวงเพดานด้านเหนือของโดมทิศตะวันออก แสดงภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบพระนครสถลมารคเช่นกัน แต่ฉากหลังเป็นภาพป้อมเผด็จดัสกร พระมหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพนฯ และพระมหาปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างและบูรณะให้สวยงามขึ้น
เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์
เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ เป็นเรือนยอดทรงไทยล้วน ตั้งอยู่ที่ทิศตะวันออกของพระที่อนันตสมาคม สร้างขึ้นโดยสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดสร้างขึ้นในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ทรงพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2557 ถึงเดือนมิถุนายน 2559[11] เรือนยอดนี้ออกแบบมาทั้งหมด 9 ยอด ซึ่งถือเป็นอาคารที่มีจำนวนยอดปราสาทมากที่สุดในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มี 5 ยอด
ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , ศิลป์แผ่นดิน