TED Fund (เทดฟัน) จับมือ 18 หน่วยงานรัฐ-เอกชน พัฒนาผู้ประกอบการ หนุนเงินทุนแจ้งเกิด Startup (สตาร์อัพ) ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

               ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) “เทดฟอลโลว์” จำนวน 18 หน่วยงานทั่วประเทศ ประจำปี 2565 ร่วมด้วย ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ห้องอีเทอร์นิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

                ทาง กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund เทดฟัน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) “เทดฟอลโลว์” จำนวน 18 หน่วยงานทั่วประเทศ เพื่อหวังบ่มเพาะ พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนวิจัย และพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

               ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) มีภารกิจในการสนับสนุนทุนด้านการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายผู้สนับสนุนการร่วมลงทุนและสนับสนุนเครือข่ายบ่มเพาะผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และร่วมผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

              ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2565 ทางกองทุนฯ ได้ดำเนินการสรรหาและจัดตั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) รายใหม่ จำนวน 18 หน่วยงาน แบ่งเป็น สถาบันการศึกษา จำนวน 9 หน่วย บริษัทเอกชน จำนวน 7 หน่วย และหน่วยงานในกำกับภาครัฐ จำนวน 2 หน่วย จากเดิมได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ไปแล้ว 34 หน่วยงาน ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้เข้าถึงแหล่งทุนและสามารถใช้บริการเครือข่ายฯ ได้อย่างทั่วถึง โดยเน้นการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และรวมถึงยังเป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

              โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้กำหนดจัดสรรเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในรูปแบบการสนับสนุนทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่

                     1.โปรแกรม IDEA (Ideation Incentive Program) ให้ทุนสนับสนุนแบบให้เปล่าวงเงิน 100,000 บาท แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญา ตรี โท เอกหรือบัณฑิตจบการศึกษาไม่เกิน 5 ปี เพื่อนำไปพัฒนาแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์และผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

                    2. โปรแกรม POC (Proof of Concept) ให้ทุนสนับสนุนแบบสมทบบางส่วน วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1,500,000 บาท แก่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ต่อยอดงานวิจัยและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

               “TED Fund เป็นเสมือนเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างนิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจในธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้พัฒนาแนวคิดหรือไอเดียในเชิงธุรกิจที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงยังสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจต้นแบบให้เกิดการบริหารจัดการ และขยายผลเชิงพาณิชย์ได้จริงเป็นรูปธรรม”

ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช
ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

            ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังการจัดตั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ในปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน กองทุนฯ ได้รับข้อเสนอโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) เข้ามากว่า 2,000 ข้อเสนอโครงการ และการยื่นข้อเสนอโครงการนั้น ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเฉพาะภาคกลาง หรือพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เท่านั้น แต่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมา TED Fund ได้ให้การสนับสนุนทุนโครงการที่ผ่านการคัดเลือก ภายใต้โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงาน TED Fellow ไปทั้งสิ้น จำนวนกว่า 435 โครงการ รวมมูลค่าการสนับสนุนกว่า 293 ล้านบาท และจากการสนับสนุนทุนดังกล่าว TED Fund ได้ทำการประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จากโครงการที่ผ่านการสรรหาและบ่มเพาะโดยเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้ปิดโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้วบางส่วน ผลปรากฏว่า เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมรวมตลอดระยะเวลาดำเนินงานได้กว่า 252 ล้านบาท ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของการจัดพิธีลงนาม MOU ร่วมกันในครั้งนี้

Related posts