เมื่อวันที่ 6 ก.ย.65 เวลาประมาณ 14.00 น. ที่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ภายใต้การนำของ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผบก.สอท.1 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการทลายเครือข่ายหลอกลงทุน P Miner ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก มีรายละเอียดทางคดี ดังนี้
เมื่อประมาณเดือน ม.ค.65 ผู้ต้องหากับพวก ได้ร่วมกันโฆษณาชักชวนหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านเฟซบุ๊ก และกลุ่มไลน์ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี มายเนอร์ คริปโตเคอร์เรนซี่ กรุ๊ป ให้สมัครเป็นสมาชิก และร่วมลงทุนขุดเหรียญ และเทรดเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ตามโครงการต่างๆ มากกว่า 30 โครงการ ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนทำระบบ ETH, ลงทุนทำระบบ 3m, โปรเจคยินดีต้อนรับ, Go to laos เป็นต้น โดยแต่ละโครงการจะมีจำนวนเงินการลงทุน และได้รับผลกำไรที่แตกต่างกัน เช่น หากลงทุน 50,000 บาท จะได้รับการคืนทุน 5 ครั้ง ทุกวันที่ 6 ของเดือน โดยแบ่งเป็นงวดๆ ละ 8,000 บาท 13,000 บาท 16,000 บาท 20,000 บาท และ 24,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 80,000 บาท บางโครงการอ้างว่าได้กำไรมากถึงร้อยละ 82 ต่อเดือน หรือได้กำไรร้อยละ 1,000 ต่อปี (ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายจะพึงจ่ายได้)
จากนั้นเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะได้รับหนังสือสัญญาการลงทุน ซึ่งในสัญญาจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นชื่อโครงการที่ลงทุน จำนวนเงินที่ลงทุน ระยะเวลาที่ลงทุน จำนวนครั้งและจำนวนผลตอบแทนที่จะได้รับเงินกลับมา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่ามีการลงทุนจริง ทั้งนี้ในช่วงแรกๆ ของการเริ่มลงทุน ผู้เสียหายจะได้รับผลตอบแทนกลับมาบางส่วนจริง
ต่อมาเมื่อเดือน ส.ค.65 ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินปันผลจากการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ต้องหาอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ และไม่สามารถติดต่อได้ในเวลาต่อมา ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวง จึงมาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย
ปัจจุบันมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ thaipoliceonline.com แล้วกว่า 341 ราย ความเสียหายรวมกว่า 439 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมีผู้เสียหายบางส่วนเข้าแจ้งความกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) อีกส่วนหนึ่งด้วย (ประมาณ 500 ราย)
กระทั่งเมื่อวันที่ 28 ส.ค.65 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนสอบสวน และรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 2 ราย ในข้อหา
1.ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
2.ร่วมกันโฆษณา หรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงิน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 12 (มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี-10 ปี ปรับตั้งแต่ 500,000–1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่)
3.ร่วมกัน โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) (มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ทำการเข้าตรวจค้นบ้านพักของผู้ต้องหาในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ ตรวจยึดของกลางที่เชื่อว่าได้มาจากการกระทำความผิดหลายรายการ อาทิเช่น รถยนต์ ยี่ห้อ เบนท์ลี่ย์ เบนเทย์ก้า, ยี่ห้อ ลัมบอร์กีนี ฮูราคาน, ยี่ห้อ เฟอร์รารี่ สไปเดอร์, ยี่ห้อพอร์เชอ 718 บ็อกสเตอร์, ยี่ห้อ บีเอ็มดับเบิลยู เอ็กซ์โฟร์, รถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน, เครื่องขุดเหรียญดิจิทัล 50 เครื่อง อีกทั้งยังสามารถอายัดเงินในบัญชีของขบวนการผู้ต้องหาได้ 117 บัญชี อายัดเงินในบัญชีได้กว่า 112 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปฏิบัติการของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ยังคงมุ่งเน้นที่จะดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม คำนึงถึงความเดือดร้อน และการอำนวยความยุติธรรมของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญต่อไป