ตามที่เมื่อประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค.65 ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้มีปฏิบัติการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 3 ครั้ง ทำการตรวจค้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และในพื้นที่ อ.บางละมุง จว.ชลบุรี รวม 23 จุด สามารถตรวจยึดเครื่องส่งสัญญาณ IP-PBX รวม 202 เครื่อง ซึ่งภายใน 1 วัน จะส่งสัญญาณโทรออกไปยังประชาชนได้กว่า 3.23 ล้านครั้ง/วัน หรือประมาณ 96.96 ล้านครั้ง/เดือน นั้น
เมื่อวันที่ 9 ก.ย.65 เวลา 14.00 น. กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบอาญชากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) นำโดย พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท., นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต. ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4, พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผบก.ตอท. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวกรณีจับกุมผู้ต้องหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ มีรายละเอียดดังนี้
เมื่อวันที่ 21 ก.ค.65 ผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ ถูกคนร้ายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกลวงข่มขู่ให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีที่คนร้ายเตรียมไว้ รวมเป็นเงินกว่า 6.9 ล้านบาท จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขออนุมัติศาลออกหมายค้นสถานที่ต้องสงสัยเชื่อว่าใช้ในการกระทำผิด จำนวน 2 จุด คือ คอนโดย่านอโศก-รัชดา และคอนโดย่านรัชดา-สุทธิสาร
กระทั่งเมื่อวันที่ 7 ก.ย.65 เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้ทำการเข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว ผลการตรวจค้นจุดที่ 1 คอนโดย่านอโศก-รัชดา สามารถจับกุมผู้ต้องหาสัญชาติจีน-ไต้หวัน ได้ 2 ราย โดยกล่าวหาว่า “มีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ”ตาม ป.อาญา มาตรา 269/6 (จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) พร้อมตรวจยึดของกลางกว่า 40 รายการ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด 33 เครื่อง, คอมพิวเตอร์แล็บ ทอป, แท็ปเล็ต, หนังสือเดินทาง, สมุดบัญชีธนาคาร พร้อมบัตรเอทีเอ็ม เป็นต้น
จากการตรวจสอบโทรศัพท์ของกลางพบว่า มีการติดตั้งแอปพลิเคชันของธนาคารซึ่งได้ลงทะเบียนผูกไว้กับบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น (บัญชีม้า) จำนวนกว่า 13 บัญชี โดยผู้ต้องหาให้การรับว่าบัญชีดังกล่าวมีไว้รับโอนเงินจากเหยื่อที่ถูกหลอกลวง นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบประวัติการการเข้าถึงระบบบริหารการจัดการฐานข้อมูล ที่มีไว้เพื่อใช้สำหรับหลอกลวงผู้เสียหาย ซึ่งภายในโปรแกรมพบหมายจับ หมายเรียก หมายคดีฟอกเงินของ ปปง. ปรากฎชื่อบุคคลอื่นในหมายจับ และข้อมูลทะเบียนราษฎร์ (ทร.14) ที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมาจำนวนมาก รวมถึงพบว่ามีการปลอมแปลงเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI อีกด้วย
จุดที่ 2 คอนโดย่านรัชดา-สุทธิสาร สามารถจับกุมผู้ต้องหาสัญชาติจีน 1 ราย อายุ 29 ปี โดยกล่าวหาว่า “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด ”ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 (จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) พร้อมตรวจยึดของกลางกว่า 12 รายการ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ และสมุดบัญชีธนาคาร เป็นต้น
จากการตรวจสอบจากฐานข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า ผู้ต้องหาดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดว่า 2,162 วัน ไม่มีการแจ้งขออยู่ต่อแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังพบผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นหญิงไทยอีก 1 ราย เชื่อว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิด
สรุปจากการตรวจค้นทั้ง 2 จุด จับกุมผู้ต้องหาได้ 3 ราย (จีน-ไต้หวัน 2, จีน 1) ผู้ต้องสงสัย 1 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้พบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวหลอกลวงแล้วหลายราย มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 60 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปฏิบัติการของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ยังคงมุ่งมั่น บังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม คำนึงถึงความเดือดร้อน และการอำนวยความยุติธรรมของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ