กรุงเทพฯ 9 พฤศจิกายน 2565 – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมวิชาการ “Early Child¬hood Development Series : First Starts” และการเสวนาเรื่อง การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต : ปฐมวัย วัยแห่งโอกาสในการยกระดับคุณภาพ ความเสมอภาค และประสิทธิภาพ ชี้ทุกภาคส่วนเร่งลงทุนด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัยช่วงเวลา ‘สมองทอง’ วัยแห่งการสร้างรากฐาน และเป็นช่วงแห่งโอกาสในการยกระดับคุณภาพ ความเสมอภาค อย่างมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ กรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพครู สำหรับ เด็กปฐมวัย นับเป็น 1 ในกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. ให้ความสำคัญเสมอมา ดังระบุในวัตถุประสงค์ของ พรบ.กสศ. มาตรา 5(1) คือ ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ตลอดจนดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาอีกด้วย
รศ.ดร.ดารณี กล่าวต่อว่า การพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัย ไม่สามารถดำเนินการเฉพาะเจาะจงที่ตัวเด็กได้เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องขยับไปทั้งหมดขององคาพยพที่ส่งผลกระทบกับตัวเด็ก ถ้าเราทำความเข้าใจว่าเด็ก 1 คน ต้องได้รับการดูแลสั่งสอนโดยครอบครัว ซึ่งตรงนี้อยู่ใกล้ตัวเด็กและมีอิทธิพลกับตัวเด็กมากที่สุด เมื่อเด็กโตขึ้นจะต้องอาศัยในชุมชน และเข้ารับบริการในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ก็จะได้รับอิทธิพลจากครู ผู้ดูแลเด็ก และการจัดการศึกษาทั้งหมด ย่อมต้องมีหน่วยนโยบาย ภาครัฐ เป็นผู้กำกับดูแลพัฒนา และมีภาควิชาการเสนอแนวทางการพัฒนาต่างๆ ให้เหล่าครูหรือโรงเรียนหรือภาคนโยบาย นี่ยังไม่นับรวมว่า ครอบครัว ตัวเด็ก หรือ สิ่งแวดล้อมที่มีความแตกต่าง คุณภาพ สวัสดิการ และความไม่เสมอภาคทางโอกาสต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับเด็กอีก ดังนั้นการพัฒนาจึงจำเป็นต้องขยับภาควิชาการ ภาคนโยบาย และภาคปฏิบัติไปด้วยกัน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ดำเนินการทั้งในส่วนของงานวิชาการ การสร้างต้นแบบ การนำสู่ปฏิบัติ ขยายผล ตลอดจนพยายามทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยั่งยืน ได้แก่
1) การสนับสนุนตรงไปที่ตัวเด็กในการจัดสรรทุนเสมอภาคให้กับเด็กยากจนพิเศษในโรงเรียนอนุบาล อัตรา 4,000 บาทต่อปี เพื่อช่วยเหลือบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียนของเด็กกลุ่มนี้ โดยทำงานร่วมกับต้นสังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) รวมไปถึง กทม. และ โรงเรียนเอกชนสงเคราะห์สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
2) การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จะพัฒนาให้คุณครู โรงเรียนจัดการเรียนรู้ การดูแลที่มีคุณภาพให้เด็กได้ กสศ. เองมุ่งเน้นดำเนินงานไปโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้เช่นเดียวกัน เช่น โรงเรียนในโครงการ TSQP หรือ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตามแนวทางของ High Scope
3) การพัฒนาโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยการทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา พัฒนาตั้งแต่ระบบการรับและดูแล นักศึกษาครูให้ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ มีหลักสูตรที่เหมาะสม เพื่อให้จบออกไปเป็นครูที่มีคุณภาพ และกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งอาจประสบปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน มีครูที่ไม่เข้าใจบริบทพื้นที่ มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม รวมถึงโรงเรียนปลายทางเอง กสศ. ก็จะเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนด้วยเช่นกัน
4) ด้านงานวิชาการ เช่น ผลการศึกษาเรื่อง Learning loss ที่ วิเคราะห์จากข้อมูลของ School readiness ซึ่งในปพ.ศ. 2566 จะเก็บได้ครบทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังมีฐานข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำ ที่จะติดตามเก็บข้อมูลของเด็กกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้ประเทศไทยเองใกล้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เด็กที่เกิดใหม่มีจำนวนน้อย หากไม่ร่วมมือกันทุกฝ่ายเร่งพัฒนา และสร้างทุนมนุษย์ที่เข้มแข็งให้สังคมและประเทศชาติตั้งแต่วันนี้ เราก็จะพอมองเห็นว่าในอนาคตประเทศไทยจะหน้าตาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา อยากให้ทุกฝ่ายทั้งหน่วยวิชาการ หน่วยนโยบายทุกระดับ หรือผู้ปฏิบัติทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน อย่าง กสศ. เอง ก็พร้อมจะเป็นส่วนในการหนุนเสริมการทำงาน เชื่อมร้อยเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในเรื่องนี้อย่างมุ่งมั่น” รศ.ดร.ดารณี กล่าวทิ้งท้าย