คนไทยเสียชีวิตจาก “โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” ถึงปีละ 2 หมื่นราย สาเหตุของโรคเกิดจากหลายปัจจัยรุมเร้าโดยเฉพาะการสูบบุหรี่และมลพิษทางอากาศ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ รณรงค์ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเร่งตรวจวินิจฉัยโรคนี้ได้ แม้ยังไม่มีอาการ แนะโรงพยาบาลทุกแห่งกระจายยาสูดขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว ย้ำเป็นยาพื้นฐานการรักษาฟรีที่ผู้ป่วยต้องเข้าถึง พร้อมเปิดแอปพลิเคชัน SIMPLE COPD ช่วยเสริมความรูในการดูแลผู้ป่วยให้กับแพทย์และพยาบาลทั่วประเทศ
สถานการณ์ผู้ป่วย “โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) เพิ่มสูงขึ้นทุกปี กลายเป็นภัยสุขภาพที่คุกคามชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าโรค COPD เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของประชากรโลก
“สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการบริบาลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ตั้งแต่การวินิจฉัยรักษา สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันหยุดยั้งปัจจัยเสี่ยงและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้าย
รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติฯ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “โรคถุงลมโป่งพอง” นับเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์และความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีผู้ป่วยมากถึงประมาณ 7 แสนราย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 รายในแต่ละปีหรือเฉลี่ยวันละ 50 ราย
สาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งมาจากการสูบบุหรี่ โดยผู้ป่วยร้อยละ 90 มีประวัติการสูบบุหรี่นานกว่า 10 ปี และผลการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง เป็นระยะเวลานานเกิน 10 ปี (pack-year) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเรื่องมลพิษทางอากาศ เช่น สูดดมฝุ่นละออง ควันพิษ ในที่ที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี และพันธุกรรมเสี่ยง การเกิดการติดเชื้อรุนแรงในวัยเด็ก ก็เป็นต้นเหตุการเกิดโรคเช่นเดียวกัน
ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือมี ภาวะเหนื่อยง่ายขณะออกแรง ไอมีเสมหะและไอเรื้อรัง ซึ่งเมื่อป่วยเป็นโรคจะมีอาการเหล่านี้แทบทุกวัน กระทบต่อคุณภาพชีวิต นอกจากนั้น ยังมีอาการกำเริบหนักขึ้นได้ เช่น เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ หรือได้รับมลพิษทางอากาศ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งบางครั้งก็อาจมีความรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ นำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการทำงาน รายได้ และทรัพยากรของประเทศ ดังนั้นการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องเหมาะสม หยุดสูบบุหรี่ และเริ่มให้การรักษาที่รวดเร็วจะช่วยลดอัตราผู้ป่วยในโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิตได้
“ในผู้สูบบุหรี่ 100 คน จะเป็นโรคนี้เฉลี่ยประมาณ 20 คนขึ้นกับพันธุกรรมเสี่ยง บางคนสูบบุหรี่มานาน 30-40 ปี ไม่เคยรับการตรวจเลย กระทั่งเกิดอาการเหนื่อยง่าย เมื่อมาพบแพทย์ปรากฏว่าปอดเหลือครึ่งเดียวแล้วก็มี ขณะที่ความเสี่ยงอื่นๆที่มีรายงาน เช่น การสัมผัสควันไฟในบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือมีการติดเชื้อในวัยเด็กทำให้ปอดพัฒนาได้ไม่เต็มที่ เป็นต้น”
ดังนั้น จึงต้องการรณรงค์ให้ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รีบมารับการตรวจวินิจฉัยปอดเพื่อดูการตีบของหลอดลมตั้งแต่เนิ่นๆ โดยสังเกตอาการดังกล่าว อย่าเพิกเฉย “ขอให้สังเกตตัวเองว่าเหนื่อยหรือไอมากขึ้นหรือไม่ เมื่อรู้แล้วต้องรีบไปตรวจวินิจฉัย จะช่วยค้นพบความผิดปกติได้เร็ว แม้เป็นโรคนี้แล้วจะไม่มีโอกาสหายขาดแต่ก็มีวิธีที่จะชะลอไม่ให้ปอดถูกทำลายมากกว่าเดิม” ซึ่งในปัจจุบัน สามารถตรวจพบโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการชัดเจนด้วย และ การหยุดสูบบุหรี่มีความสำคัญมากเพื่อชะลอความเสื่อมของปอดหรือไม่ให้ปอดถูกทำลายเร็วขึ้น การสูบบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ เช่น มะเร็ง หัวใจขาดเลือด ฯลฯ ตามมาด้วย
การรักษามาตรฐานสำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการ แพทย์จะให้ยาสูดเป็นหลัก เนื่องจากมีประสิทธิภาพดี มีผลข้างเคียงน้อยมาก ได้แก่ ยาสูดขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว สูด 1 ครั้งคุมอาการได้ตลอดวัน ลดความยุ่งยาก และปัจจุบัน ผู้ป่วยทุกรายทุกสิทธิ์การรักษาไม่ต้องเสียค่ายาอีกด้วย แต่ปัญหาที่พบคือการกระจายยาไม่ทั่วถึง ยังมีเฉพาะโรงพยาบาลในระดับจังหวัดขึ้นไป ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่เข้าไม่ถึงยา ทั้งที่ยาชนิดนี้เป็นพื้นฐานการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ฟรีในผู้ป่วยทุกราย จึงควรมีในทุกโรงพยาบาล
นอกจากยาสูดขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวแล้ว ยังมียาอื่นๆที่แพทย์ปรับให้ผู้ป่วยตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงการรักษาแบบไม่ใช้ยาก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ได้แก่ การฝึกออกกำลัง ฝึกการหายใจที่ถูกต้อง และรับวัคซีนป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับปอด ทั้งโรคโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันเชื้อปอดอักเสบ
นพ.กมล กล่าวอีกว่า คนในครอบครัวต้องมีความเข้าใจ ช่วยกันดูแลแบบองค์รวมให้มีกำลังใจ เสริมการออกกำลังกาย สารอาหารที่เหมาะสมเพื่อฟื้นฟูตัวเอง ดูแลตัวเองหรือเดินได้ระดับหนึ่ง ไม่สร้างภาระมากไป ไม่เช่นนั้นก็จะมีโรคอื่นแทรกซ้อนโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า การขาดการออกกำลังกาย ขาดสารอาหารที่เพียงพอในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ยิ่งทำให้ร่างกายโดยรวมอ่อนแอลง กล้ามเนื้อลีบ เดินไม่ได้มากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน ผู้ป่วยและผู้ดูแล เนื่องใน “วันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก” (World COPD Day)เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดหน่วยตรวจสมรรถภาพปอดสัญจรไปยังโรงพยาบาลที่ไม่สามารถตรวจสมรรถภาพปอดได้ นำทีมโดย นพ.ขจร สุนทราภิวัฒน์ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลวิเชียรบุรี และโรงพยาบาลหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้ผู้ป่วยมากกว่า 214 รายได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการกลุ่มโรคหลอดลม สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯยังพัฒนาแอปพลิเคชัน “SIMPLE COPD”เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ดูแลผู้ป่วยอย่างง่าย สะดวก และถูกต้อง เริ่มตั้งแต่การประเมินโรค การเลือกยารักษา การปรับยา การใช้อุปกรณ์พ่นสูด และคำแนะนำอื่นๆ ที่จำเป็น หลังจากเปิดใช้แอปพลิเคชันเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานกว่า 500 คน ทั้งแพทย์และพยาบาลยอมรับถึงศักยภาพการเป็นช่องทางเรียนรู้ให้แก่โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดต่างๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการจัดทำวิดีโอสั้นให้ความรู้กับประชาชน ในการสังเกตอาการและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเมื่อต้องอยู่กับโรค เผยแพร่ผ่านช่อง YouTube ของสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ
สำหรับฤดูหนาวที่มาเยือนประเทศไทยขณะนี้ นพ.กมล แนะนำว่า ช่วงที่สภาพอากาศมีฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการกำเริบของโรคได้ จึงขอให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยเฉพาะผู้สูงวัย ให้ระมัดระวังตัวเอง เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงออกไปรับฝุ่นภายนอกในช่วงที่มี PM2.5 สูง ซึ่งหลายครั้งเป็นในช่วงเช้า แม้จะใส่หน้ากากอนามัยก็ไม่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กมากได้
นอกจากนั้น ขอเตือนไปถึงกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่นผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองหรือควันที่พ่นออกมาหรือควันจากปลายมวนบุหรี่เป็นประจำ คนในครอบครัวและสตรีมีครรภ์ต้องระวังมาก ควรหลบเลี่ยงและดูแลสุขภาพให้ดี รวมทั้งผู้นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าตามกระแสที่อ้างว่าปลอดภัย ใส่รสกลิ่นใหม่ๆ กลับทำให้เสพติดง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้สูบรายใหม่ที่เป็นวัยรุ่นและผู้หญิง มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงถึงเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน