กวาดเสียงวิจารณ์-เสียงปรบมือทุกเทศกาล “THE LOST KING”

              เอ็ม พิคเจอร์ส ส่งภาพยนตร์คอมเมดี้ผสมชีวิต ที่ได้รับเสียงวิจารณ์และเสียงปรบมือทุกเทศกาล เรื่อง “THE LOST KING” กษัตริย์ที่สาบสูญ โดยผู้กำกับ สตีเฟ่น เฟรียร์ส, คนเขียนบท สตีฟ คูแกน, เจฟฟ์ โปป ที่นำแสดงโดย แซลลี่ ฮอว์กินส์, สตีฟ คูแกน, แฮร์รี่ ลอยด์

              กับเรื่องราวเมื่อพระอัฐิสัณฐานของ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 (แฮร์รี่ ลอยด์) ซึ่งสูญหายไปกว่า 500 ปี ถูกขุดพบอยู่ใต้ลานจอดรถเทศบาลเมืองเลสเตอร์ จนนำไปสู่การค้นพบความจริงที่ว่าพระองค์ไม่ใช่กษัตริย์ทรราชแห่งประวัติศาสตร์อังกฤษอย่างที่ถูกใส่ร้ายกัน นำโดย ฟิลลิปปา แลงก์ลีย์ (แซลลี่ ฮอว์กินส์) นักเขียนบทภาพยนตร์ชาวเอดินบะระ ที่ตั้งใจจะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับกษัตริย์ผู้นี้และพยายามแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์จอมปลอมนั้นแท้จริงแล้วถูกเขียนโดยผู้ชนะ!

เกร็ดไฮไลต์ของภาพยนตร์

          1) จากเรื่องจริงพลิกโลกเมื่อมีการขุดพบซากโครงกระดูกของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้ลานจอดรถแห่งหนึ่งในเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ แล้วกลายมาเป็นการพลิกโฉมหน้าความจริงเกี่ยวกับความร้ายกาจของพระองค์ที่ต้องสวรรคตอย่างอนาถในสนามรบทุ่งบอสเวิร์ธก่อนจะถูกลากประจานไปทั่วเมือง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามมาก็คือ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ทรงสู้ตามลำพังอย่างสมศักดิ์ศรีท่ามกลางศัตรูจำนวนมากที่ห้อมล้อมพระองค์ไว้ และถูกขุนนางเฮนรี่ ทิวดอร์ ผู้ต่อมาจะเป็นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ ทำให้เกิดข้อถกเถียงสะเทือนวงการประวัติศาสตร์โลกยาวนานถึง 3 ปีเต็มอย่างที่ไม่เคยมีก่อน

          2) สู่ภาพยนตร์สุดประทับใจส่งท้ายปี โดยฝีมือผู้กำกับเข้าชิง 2 รางวัลออสการ์ “สตีเฟ่น เฟรียร์ส” จาก ‘The Grifters’ (1990) และ ‘The Queen’ (2006) ที่ทุ่มสุดตัวด้วยการใช้เวลากว่า 1 ปีเต็มเพื่อรื้อปริศนาจากเหตุการณ์จริงในปี 2012 มาประกอบร่างรวมให้กลายเป็นภาพยนตร์อันน่าทึ่งที่จะประจักษ์แก่สายตาผู้ชมมากที่สุดในปีนี้

          3) ผนึกกำลังผู้สร้างหนังตัวท็อปแห่งเกาะอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น “โรส การ์เนตต์” จาก ‘Black Swan’ (2010), ‘Room’ (2015), “คริสติน แลนแกน” จาก ‘The Queen’ (2006), ‘Jane Eyre’ (2015), และ “คาเมรอน แม็กแครกเกน” จาก ‘Slumdog Millionaire’ (2008), ‘Philomena’ (2013), ‘Selma’ (2014), พร้อมด้วย “ฟิลลิปปา แลงก์ลีย์” ตัวจริงเสียงจริงที่ขอลงมาคุมงานสร้างเอง เพื่อให้แน่ใจว่า “THE LOST KING กษัตริย์ที่สาบสูญ” จะออกมาถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากที่สุดแน่นอน

          4) ดึงนักแสดงผู้เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิง 2 รางวัลออสการ์ “แซลลี่ ฮอว์กินส์” จาก ‘Blue Jasmine’ (2013) และ ‘The Shape of Water’ (2017) มาสวมวิญญาณเป็น “ฟิลลิปปา แลงก์ลีย์” ที่ฮอว์กินส์ตัดสินใจเดินทางไปพบกับเธอ เพื่อพูดคุยเก็บข้อมูลก่อนเริ่มถ่ายทำนานหลายสัปดาห์ และยังดูคลิปวิดีโอสัมภาษณ์หลายร้อยรอบ เพื่อให้เข้าถึงเจตนารมณ์ของแลงก์ลีย์ให้มากที่สุด แถมยังได้ประกบ “สตีฟ คูแกน” นักแสดงอารมณ์ดีผู้เข้าชิง 2 รางวัลเช่นกันจากผลงานการเขียนบทและโปรดิวเซอร์ใน ‘Philomena’ (2013) โดยเรื่องนี้คูแกนก็รับหน้าที่เป็น 1 ในคนเขียนบทของภาพยนตร์ด้วย ซึ่งไอเดียตั้งต้นต่อหนังเรื่องนี้ของเขาคือต้องการเล่าเรื่องของคนธรรมดาที่พยายามจะเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ ในเวลาเดียวกับยกระดับความเป็นมนุษย์ด้วยการต่อสู้เพื่อความจริง โดยไม่ได้มาจากมุมมองของผู้ชนะแต่เพียงฝ่ายเดียว

          5) พร้อมเนรมิตเสียงดนตรีจากฝีมือผู้ประพันธ์สกอร์เจ้าของ 2 รางวัลออสการ์ “อเล็กซานเดอร์ เดสปลาต” จาก ‘The Grand Budapest Hotel’ (2014) และ ‘The Shape of Water’ (2017) เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักประพันธ์ดนตรีประกอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกภาพยนตร์ ที่งานนี้เดสปลาตได้ถ่ายทอดบทเพลงให้กับ “THE LOST KING กษัตริย์ที่สาบสูญ” ผ่านทุกท่วงทำนองของเขาที่ล้วนกลั่นมาจากเรื่องราวเต็มไปด้วยความรัก ความจริงแท้ และการต่อสู้อันเข้มข้นที่แฝงอยู่ในตัวโน้ตจนกลายมาเป็น 1 ในผลงานมาสเตอร์พีซไม่แพ้ผลงานก่อน ๆ เลยทีเดียว

         6) กำกับภาพให้ละเมียดจากวิสัยทัศน์ของ “แซก นิโคลสัน” 1 หนึ่งในผู้กำกับภาพมือดีที่เคยพิสูจน์ความเก่งกาจให้เห็นมาแล้วใน ‘Les Miserables’ (2012) โดยนิโคลสันเผยว่าหลักการในการทำงานของเขาไม่มีอะไรซับซ้อน เขาต้องคุยกับผู้กำกับจนกว่าจะเข้าใจว่าอารมณ์ของหนังจะออกมาเป็นแบบใด และเขาจะทำงานร่วมกับผู้ออกแบบงานสร้าง และผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์ที่สุด

          7) ร่วมงานกับ “แอนดี้ แฮร์ริส” นักออกแบบงานสร้างที่เคยทำงานให้กับผู้กำกับชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘จอห์น แฮร์ริสัน, เทอร์เรนซ์ ดาวีส, เดวิด เฮย์แมน’ เขาให้ความสำคัญกับการออกแบบงานสร้างและการหาสถานที่ถ่ายทำมาก ๆ ถึงขั้นตามรอยสถานที่ขุดพบซากกระดูกของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ในเมืองเลสเตอร์แล้วใช้ให้เป็นโลเคชันจริง ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมไปถึงจำลองภาพชีวิตของพระองค์ให้สมจริงด้วยสถานที่ถ่ายทำและคอสตูมแสนละเมียด ซึ่งทีมออกแบบงานสร้างเนรมิตฉากขึ้นมาใหม่ตามยุคที่เกิดขึ้นจริง ด้านเครื่องแต่งกาย ทั้งเนื้อผ้าและสีสันให้ความรู้สึกย้อนยุคแต่ยังคงความสวยสง่าไม่ล้าสมัย แถมทีมงานได้ปักหลักถ่ายทำในสก็อตแลนด์ที่ใกล้เคียงกับสนามรบทุ่งบอสเวิร์ธ เพื่อให้ออกมางดงาม และครบเครื่องตามบทภาพยนตร์มากที่สุดอีกด้วย

          8) เมกอัปขั้นเทพให้เหมือนหลุดออกมาจากหน้าประวัติศาสตร์ของจริง โดย “วิเวียน ซิมป์สัน” จาก ‘Children of Men’ (2006), ‘World War Z’ (2013), ‘Wonder Woman 1984’ (2020) ซึ่งจะทำให้ผู้ชมอินไปกับตัวละครมากขึ้น จนเรียกได้ว่าทั้งหมดนี้คือความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ทั้งผู้สร้าง นักแสดง และทีมงานที่ตั้งใจทุ่มเททุกอย่างอย่างสุดฝีมือ

          9) ขณะเดียวกันในด้านความละเอียดอ่อนของเนื้อหาและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ ทำให้ “THE LOST KING กษัตริย์ที่สาบสูญ” ต้องโดนจับตาจากเหล่านักวิชาการและสื่อมวลชนทั่วเกาะอังกฤษตั้งแต่ช่วงเริ่มงานสร้าง จนกระทั่งเมื่อถึงวันที่ตัวอย่างแรกของภาพยนตร์ถูกปล่อยมา หนังก็โดนโจมตีทันทีในเรื่องข้อมูลหลายอย่างที่ไม่ตรงตามเหตุการณ์ความเป็นจริง และเกือบจะ “ถูกระงับ” ก่อนหน้าที่จะเข้าฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์โทรอนโตเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

          10) กวาดเสียงวิจารณ์แดนบวกระดับเอกฉันท์บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ไปทั้งสิ้น 70% รวมถึงเสียงปรบมือยาว 3 นาทีในทุกเทศกาล ทั้งหมดรับประกันได้เลยว่า “THE LOST KING กษัตริย์ที่สาบสูญ” จะต้องเป็นของขวัญล้ำค่า เพื่อต้อนรับวันปีใหม่ที่จะดียิ่งกว่าเดิม เตรียมพาทั้งครอบครัวมาดูด้วยกันกับโปรแกรมยักษ์ส่งท้ายปี 29 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

Related posts