เริ่มแล้ว! “ บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม หรือ PMUC RESEARCH for Thailand’s Competitiveness 2023 ” งานแรกที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่จาก บพข. เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ร่วมรับฟังเสวนาจุดประกายความคิดในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมจากซีอีโอองค์กรชั้นนำของประเทศ พร้อมชมต้นแบบผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่ผ่านเส้นทางจากห้องปฏิบัติการสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงผลงานวิจัยเด่นที่ถูกผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ใช่สำหรับผู้ใช้จาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรม กิจกรรม Hackathon ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยและผู้ประกอบการได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการในการเขียนโครงการขอรับทุนวิจัยจาก บพข. และพลาดไม่ได้ .. กับการนำเสนอผลงานวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง (Research Pitching) ที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โอกาสของนวัตกรรมไทยก้าวไกลระดับโลก เปิดตัวสู่สากลอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก 26 – 27 เมษายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “ บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 หรือ PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ และเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) เพื่อขยายผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่าง บพข. และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด. หรือ depa) และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ฉบับที่ 2 ในด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด (Carbon Footprint)
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศกล่าวว่า บพข. มีภารกิจหลักในการจัดสรรทุนวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นบริหารจัดการทุนที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และศาสตร์ต่าง ๆ เชื่อมโยง Value Chain ที่ก่อให้เกิด “อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูง” สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“ บพข. เกิดขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจ “ปิดช่องว่าง” ของปัญหาในระบบวิจัยไทย ขับเคลื่อนผลงานวิจัยให้ลงจากหิ้งออกจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้มากที่สุด เพื่อ “พลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกอนาคต” ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ.2566 – 2570 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยบทบาทของ บพข. จะเป็นหน่วยที่ให้ทุนกับทุกภาคส่วน มุ่งนำเอางานวิจัยมาพัฒนาและต่อยอดให้เป็นจริงในเชิงพาณิชย์หรือเชิงอุตสาหกรรมได้ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ก่อตั้งมา บพข. ได้มีการจัดสรรทุนวิจัยด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปแล้วกว่า 907 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท มีเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยร่วมสนับสนุนโครงการมากกว่า 500 บริษัท ”
ปัจจุบัน บพข. ได้จัดสรรทุนวิจัยครอบคลุม 8 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ กลุ่มอาหารมูลค่าสูง กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต และกลุ่มโลจิสติกส์และระบบราง นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนแผนงานกลไกขับเคลื่อนประเทศใน 4 แผนงาน ได้แก่ แผนงานโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure; NQI) แผนงานการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ เพื่อการพัฒนา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (Global Partnership) แผนงานการสร้างแพลตฟอร์มบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Science and Technology Accelerator Platform) และแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ขนาดใหญ่ (Innovation Driven Enterprise: IDE)
อย่างไรก็ดี บพข. ได้เล็งเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานวิจัยภาครัฐ และภาคเอกชน ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้จัดงาน “ บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 หรือ PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023 ” ขึ้นในครั้งนี้เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยเด่นจาก บพข. สำหรับผู้ประกอบการหรือนักลงทุน ที่มองหางานวิจัยพร้อมใช้ ได้มีโอกาสพบปะกับนักวิจัยเจ้าของผลงานที่พร้อมก้าวเดินและร่วมผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ใช่สำหรับผู้ใช้ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
สำหรับเปิดตัวกิจกรรมไฮไลต์ภาคเช้าวันแรก ห้ามพลาด กับการเสวนา “The CEO views: Thailand Competitiveness, Achievement through Research and Innovation” พบกับมุมมองและวิสัยทัศน์ของ CEO องค์กรชั้นนำของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ อาทิ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล นายสุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าทีมขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS NEXT บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ส่วนภาคนิทรรศการ มีการนำเสนอศักยภาพของผลงานวิจัยไทยที่ บพข. ให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม และที่น่าสนใจ คือ ตัวอย่างผลงานวิจัยที่ได้รับการผลักดันจนสามารถออกสู่ตลาดได้สำเร็จ เช่น “ เส้นโปรตีนไข่ขาว ” นวัตกรรมด้านอาหารที่ช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ผลงานวิจัยจากคณะสหเวชศาสตร์ และบริษัท ทานดี อินโนฟูดจำกัด ภายใต้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เอาใจคนชอบกินเส้น โดยทำจากโปรตีนไข่ขาว 100% โปรตีนสูง ไขมันต่ำ และปราศจากกลูเตน ผลงานนี้ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย และเป็น 1 ใน 21 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการประกวดสตาร์ทอัพด้านอาหารแห่งอนาคต ซึ่งได้มีโอกาสเสิร์ฟให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจในการประชุมเอเปคที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ทานน์ดี” นอกจากนี้ยังมี “ฟิล์มปิดหน้าถาดบรรจุภัณฑ์จากเม็ดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” ผลงานวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งต่อยอดความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวงและ บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ในการประยุกต์ใช้กับถาดสลัดของโครงการหลวง ที่นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีความบาง ใส ไม่เกิดฝ้า และช่วยยืดอายุผักสลัดให้คงสภาพสดใหม่ในชั้นวางจำหน่าย และ “นํ้ายาล้างผักจากเอนไซม์สลายสารพิษฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักและผลไม้” ผลงานวิจัยจาก บริษัท ไบโอม จำกัด ดีพเทคสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่ง spin-off จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่วมทุนกับ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) โดยน้ำยาล้างผักฯ นี้มีจุดเด่นที่เป็นการสลายโครงสร้างความเป็นพิษของยาฆ่าแมลง ไม่ใช่การชะล้างเหมือนน้ำยาล้างผักทั่ว ๆ ไป ทำให้เป็นการตัดวงจรความเป็นพิษ ไม่มีสารพิษตกค้างในน้ำ จึงปลอดภัยกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การนำเสนอ “ผลงานวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง (Research Pitching)” ที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของนักวิจัยและผู้ประกอบการไทยในการนำเสนอโมเดลธุรกิจจากงานวิจัยให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การเสวนา “ความสำเร็จของการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” จากผู้ประกอบการธุรกิจจากงานวิจัยตัวจริง เช่น บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการระบบบริหารคลังสินค้าอัจฉริยะ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาด้านการผลิตยาและเครื่องมือแพทย์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านยา และบริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสมุนไพรไทย
และกิจกรรม Hackathon “PMUC HACK” ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยและผู้ประกอบการได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการในการเขียนโครงการขอรับทุนวิจัย เพื่อนำไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมมุ่งเป้าทั้ง 8 ด้าน รวมถึงกิจกรรมการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ที่จะจุดประกายความคิด ให้เห็นถึงโอกาสจากการทำธุรกิจจากงานวิจัย และเส้นทางการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงวิธีการที่จะนำพาธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศ
ผู้บริหาร บพข. ย้ำ .. สิ่งที่นำมาจัดแสดงจะเป็นสิ่งที่ผลิตได้จริง ใช้ประโยชน์ได้จริงและสามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง
เรียกได้ว่า งานนี้..พลาดไม่ได้ ! โดยเฉพาะนักวิจัย ผู้ประกอบการและผู้สนใจ ที่อยากจะทำ “ธุรกิจจากงานวิจัย” และ “สร้างความแตกต่างในการแข่งขัน” ขอเชิญชวนมาชมศักยภาพของคนไทยในการทำงานวิจัย และเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การสร้างเศรษฐกิจของประเทศ “ โอกาสรออยู่ ” ซึ่ง บพข. พร้อมที่จะร่วมผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย.