โครงการศูนย์วิจัยการลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย Thai-Japanese Investment Research Institute (TJRI) ภายใต้บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด เปิดเผยถึงมุมมองการขยายธุรกิจและนำเสนอวิธีการส่งเสริมการลงทุน ของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ประเทศญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับต้น ๆ อย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ทว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสวิพากษ์ว่ามีบริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากไทยไปที่ประเทศเวียดนาม หรือประเทศอื่น ๆ เนื่องจากปัญหาในประเทศเช่น สภาพเศรษฐกิจ ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ ทว่าจากข้อมูลพบว่าบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยนั้นยังมีมุมมองไปในทางทีดี
จากข้อมูลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ครึ่งปีหลังพ.ศ. 2565 โดย หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC Bangkok) นั้น พบว่าผลดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (DI) คาดการณ์เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนของบริษัทที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่มด้านโรงงานและเครื่องจักร ในพ.ศ. 2566 คิดเป็น 31% ลงทุนคงที่ 46% มีเพียง 16% คาดว่าจะลงทุนลดลง นอกจากนี้ แนวโน้มของบริษัทที่คาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566 คิดเป็น 35% การส่งออกจะคงที่คิดเป็น 51% คาดว่าการส่งออกจากลดลงคิดเป็น 14% ทว่าประเด็นปัญหาด้านการบริหารองค์กรนั้นบริษัทญี่ปุ่นมองว่า การแข่งขันกันระหว่างบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้นคิดเป็นปัญหามากที่สุด ตามมาด้วยปัญหาการเพิ่มสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลกร โลจิสติกส์ ตามลำดับ
นายกันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัดและผู้ก่อตั้งโครงการ TJRI กล่าวว่า “แม้บริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยนั้นยังมีมุมมองในทางที่ดี ทว่าหากดูข้อมูลภาพรวมบริษัทญี่ปุ่นจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วนั้น ส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองว่าการลงทุนในต่างประเทศคือการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนในการส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ส่งผลให้การพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ กลายเป็นองค์ประกอบหลักในการตัดสินใจทางนโยบาย ทำให้เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับเวียดนามแล้วไทยจึงดูไม่โดดเด่น เช่น ค่าจ้างแรงงานในภูมิภาค จำนวนประชากรที่ส่งผลต่อขนาดของตลาดในประเทศ ความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และจำนวนประเทศที่ได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA เป็นปัจจัยสำคัญในการการเป็นเลือกฐานการส่งออก”
จากการสำรวจของ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) พบว่าในภูมิภาคอาเซียนนั้น อุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นมีแนวโน้มสนใจขยายการลงทุนไปที่ ประเทศเวียดนามอันดับ 1 (อันดับ 4 ของโลก) ตามมาด้วย ไทย (อันดับ 5 ของโลก) อินโดนิเซีย มาเลเซีย และฟิลิบปินตามลำดับ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นมองจุดเด่นของไทยเทียบกับประเทศเวียดนามคือมีจุดแข็งด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ พลังงานและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง อีกทั้งมีความกระจุกตัวของอุตสาหกรรมสูง ในขณะที่จุดเด่นของเวียดนามคือ ค่าแรงต่ำ ตลาดมีขนาดใหญ่ สถานการณ์ประเทศและการเมืองคงที่ ทว่านักลงทุนยังกังวลถึงความเสี่ยงของประเทศเวียดนามในแง่ของ ค่าแรงเพิ่มกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การบังคับใช้นโยบาย การแก้ไขกฏหมายและความโปร่งใสในการดำเนินงาน อีกทั้งนักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์ของทั้งสองประเทศว่า “ค่าแรงกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” ทว่าความกังวลต่อ “การจัดหาตำแหน่งบริหาร” ของประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มลดต่ำลง ทางโครงการวิเคราะห์ว่านี่แสดงถึงนักลงทุนญี่ปุ่นกำลังมีมุมมองต่อตลาดแรงงานในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไป
นายกันตธร กล่าวต่อว่า “ตามที่รัฐบาลไทยต้องการดึงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้เข้ามาในประเทศไทย โดยไม่ต้องการให้ไทยเป็นโรงงานประกอบอย่างเดียวนั้น ถ้าไม่มีสิ่งกระตุ้นอื่นที่มากพอที่จะสร้างความแตกต่างกับนโยบายดึงดูดการลงทุนของประเทศอื่นอย่างเห็นได้ชัด นักลงทุนญี่ปุ่นก็ยังคงจะเปรียบเทียบตัวเลขทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นที่ผ่านมา และจะยิ่งส่งผลให้เวียดนามดูโดดเด่นเป็นอย่างมาก กล่าวคือหากไม่มีแรงกระตุ้นอื่นบางอย่าง สถานการณ์อาจไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นโครงการ TJRI จึงเสนอการใช้จุดเด่นของบริษัทไทยในตลาดหลักทรัพย์ที่มีความแข็งแกร่งเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นในรูปแบบการลงทุนร่วมค้า (Joint venture) ระหว่างบริษัทไทยและญี่ปุ่น”
“ประเทศไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก เราสามารถใช้จุดนี้ดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นได้ในรูปแบบการชวนมาทำธุรกิจร่วมกับบริษัทไทยเป็นวัตถุประสงค์หลัก ซึ่งจะไม่เหมือนกับการชวนมาลงทุนให้มาสร้างฐานการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมเหมือนที่ผ่านมา ทว่าการจะทำให้เรื่องนี้สำเร็จ จำเป็นต้องมีตัวเชื่อมระหว่างกลางให้บริษัทของทั้งสองประเทศรู้จักกันมากขึ้น โดยต้องมีแหล่งให้ข้อมูลด้านธุรกิจไทยกับบริษัทญี่ปุ่นที่แม่นยำและเข้าถึงได้ง่าย ผมจึงได้ก่อตั้งโครงการ TJRI ด้วยความตั้งใจให้นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีข้อมูลประเทศไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นมากเท่าไร ประเทศไทยจะเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และญี่ปุ่นจะไม่มองว่าไทยเป็นเพียงฐานการผลิตต้นทุนต่ำเพียงอย่างเดียว แต่จะมองว่าประเทศไทยมีองค์กรขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ที่อยากทำธุรกิจร่วมกับนักลงทุนญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมและแตกต่างกับประเทศอื่นในอาเซียน ซึ่งองค์กรใหญ่ของไทยเหล่านี้ ต่างกำลังขยับตัวหาเทคโนโลยีจากทั่วโลกในทุกๆอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นจุดแข็งเดิมและสามารถต่อยอดไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคต”
นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด ผู้บริหารจัดการโครงการ TJRI ได้รับช่วงต่อสื่อธุรกิจรายเดือนภาษาญี่ปุ่น “ArayZ” และ “ArayZ ONLINE” ของบริษัท จีดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งเป้าเป็นสื่อกลางอันดับ 1 ในการเชื่อมต่อข้อมูลทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนไทยและญี่ปุ่น โดย “ArayZ” เป็นนิตยสารรายเดือนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศไทยและอาเซียน มีบทความหลากหลายหมวดหมู่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ, กฎหมาย, บัญชีและภาษี ตลอดจนด้านทรัพยากรบุคคลและแรงงานอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ปัจจุบัน ArayZ ส่งไปยังบริษัทญี่ปุ่นในไทยกว่า 3,000 แห่งในหลายอุตสาหกรรม ทั้งการผลิต ยานยนต์ โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการบริการ โดยมีผู้อ่านกว่า 46% เป็นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (CEO, MD) ผู้จัดการ (Manager) และผู้จัดการทั่วไป (General Manager) ตามลำดับ อีกทั้งมีผู้อ่านในเว็บไซต์มากกว่า 50,000 คนต่อเดือน
“ผมรับช่วงต่อกิจการ ArayZ ในครั้งนี้ด้วยความตั้งใจที่จะให้บริษัทญี่ปุ่นเข้าถึงข้อมูลบริษัทไทยได้มากกว่าที่เคย เราสามารถเข้าถึงนักลงทุนญี่ปุ่น ช่วยทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสการลงทุนในการขยายธุรกิจ อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในประเทศไทยตามสิ่งที่รัฐบาลคาดหวัง และช่วยชูอีก 1 จุดแข็งที่แท้จริงของประเทศไทยที่ประเทศอื่นไม่มีคือ การมีบริษัทหรือองค์กรญี่ปุ่นขนาดใหญ่ที่มีสำนักงาน และฐานการผลิตในประเทศของเราอยู่แล้วจำนวนมาก และมีองค์กรไทยขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งในตลาดหลักทรัพย์อีกมากมาย เหลือเพียงแค่การสร้างโอกาสให้ทั้งสององค์กรนี้ได้ทำความรู้จักกันเชิงลึก เราจึงอยากทำหน้าที่เป็น ‘สะพาน’ ที่จะสร้างจุดเชื่อมระหว่างองค์กรไทย-ญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการหารือกันโดยตรงระหว่างภาคเอกชน และเป็นการกระตุ้นให้นำไปสู่การลงทุนใหม่ให้กับประเทศในรูปแบบใหม่ โดยที่ไม่ต้องถูกเปรียบเทียบเฉพาะตัวเลขทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นเหมือนที่ผ่านมา” นายกันตธร กล่าวสรุป