กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ผลักดันธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูปเต็มอัตรา หลังผู้ประกอบการต่างยกระดับด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำมาสู่สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลกในยุค Next Normal พร้อมทวงบทบาทประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอย่างสง่าผ่าเผย ตามเป้าหมายของ DITP ในการมุ่งกระจายรายได้จากการส่งออกสู่เกษตรกรผู้ผลิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า “ในช่วงที่ผ่านมา สินค้าเกษตรทั้งรูปแบบสดและแปรรูปของประเทศไทยมีความโดดเด่นอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการต่างได้ยกระดับด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมนำมาซึ่งสินค้าที่โดดเด่นทั้งในเรื่องของคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนความแปลกใหม่ที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยมีกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จสามารถครองบทบาทในตลาดสากลมากมาย ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่ ธัญวรรณ พัฒผล ผู้ประกอบการ Wonnapob Rice หรือข้าววรรณภพ โดยเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวและมีสาขาหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP ช่วยส่งเสริมพา Wonnapob Rice ร่วมออกบูธในตลาดต่างประเทศ เปรียบเหมือนการเปิดประตูให้ลูกค้าต่างชาติได้รู้จักผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งช่วยให้บริษัทรู้ถึงข้อมูลต่าง ๆ ในเรื่องขอจดทะเบียนการค้าในแต่ละประเทศ ทำให้บริษัทสามารถส่ง Order ข้าวต่อปีได้ถึงหลักแสนล้านตัน
อีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้แก่ผู้ผลิตและจำหน่ายมะขามแปรรูปอย่าง ธนนท์ โฆวงศ์ประเสริฐ ผู้บริหารแบรนด์ Tamarind House หรือ บ้านมะขาม ผู้สามารถนำผลไม้ไทยแท้อย่างมะขามให้กลายเป็นที่รู้จักในตลาดสากล โดยการแปรรูปมะขามไปในหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบัน Tamarind House ได้ส่งออกมะขามหวานแปรรูปไปยังหลากหลายประเทศ ถือเป็นการยกระดับผลไม้ไทยแท้ให้กลายเป็น World Snack สำหรับทุกเพศทุกวัยได้อย่างแท้จริง โดย Tamarind House ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ในเรื่องของคำแนะนำเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การค้นหาไอเดียการออกแบบแพคเกจจิ้งสินค้า ที่สำคัญที่สุดคือการได้ไปออกบูธตลาดต่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างน้อยปีละครั้ง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นประเภทอาหาร ที่ผู้บริโภคต้องได้ลองชิมก่อนว่าชอบ หรือ ไม่ชอบ ซึ่งสิ่งนี้คือกลยุทธ์ดึงดูดผู้บริโภค ตลอดจนผู้ประกอบการที่จะเข้ามาเจรจาเพื่อการต่อยอดนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปวางจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ ในรูปแบบ B2B ต่อไป
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในด้านการปรับตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมที่จะส่งเสริมและผลักดันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทยในหลากหลายแนวทาง เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหลังจากสถานการณ์ โควิด-19 ได้บรรเทาลง
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของกรม สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th หรือ สายด่วนการค้าระหว่างประเทศ 1169