กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรม ‘Thank You Teacher ขอบคุณครูทุนเสมอภาค’ ภายใต้ธีมงาน สานพลังทีม เสริมพลังใจ สร้างสรรค์โอกาส เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ ครูที่อาสามาจากทุกหน่วยงานต้นสังกัดการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเข้ามาดูแลนักเรียนในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค จนได้ข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่เพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายการทำงานของ กสศ. มาตลอด 5 ปีของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยกิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ โรงแรมหรรษา เจ บี จังหวัดสงขลา หลังจากจัดไปแล้วที่เวทีภาคเหนือ ณ โรงแรม เซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในโอกาสแสดงความขอบคุณไปยังคุณครูกว่า 400,000 คน ผู้เป็นกำลังหลักในการจัดทำข้อมูลนักเรียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าในการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตลอด 5 ปีของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยข้อมูลจากคุณครูนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง ‘ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ที่จะดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่กำลังประสบภาวะวิกฤตทางการศึกษา เพื่อติดตามและช่วยเหลือให้อยู่ในระบบการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง
กนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า กิจกรรม Thank You Teacher ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณครูจากทุกโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่เป็นกำลังสำคัญในการลงพื้นที่สำรวจติดตาม บันทึกข้อมูลนักเรียนร่วมกับ กสศ. ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับนำมากำหนดแนวทางการช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ยังขาดแคลนปัจจัยในการศึกษามากกว่า 1.3 ล้านคนทั่ว ประเทศ มีครูร่วมคัดกรอง ถึง 342,749 คน มีโรงเรียน ในสังกัด ต่าง ๆ ร่วมคัดกรองเด็ก ถึง 31,175 แห่ง
กนิษฐา กล่าวว่า ครูจากสังกัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นต้นทางสำคัญของข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับนำไปใช้แก้ปัญหาเด็ก ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นด่านหน้าสำคัญที่สะท้อนปัญหาในพื้นที่ เพราะได้เข้าไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ในแต่ละแห่งในพื้นที่จริง แนวทางในการเก็บข้อมูลจากพื้นที่ต่าง ๆ ของครูถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลเด็กในพื้นที่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลที่ถูกบันทึกและนำมาเก็บไว้ในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. นำไปช่วยเหลือในมิติต่าง ๆ ข้อมูลที่ได้มีพลังที่สามารถผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี เช่น จากปีแรกที่นักเรียนทุนเสมอภาคได้รับเงินอุดหนุนปีการศึกษาละ 1,600 บาท แต่ข้อมูลจากครูช่วยให้เห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการและความจำเป็นและถูกนำมาผลักดันเป็นนโยบาย ขยับตัวเลขเพิ่มขึ้นมาเป็นปีการศึกษาละ 3,000 บาทและจะเพิ่มเป็นปีละ 3,480-4,200 บาท ในปีการศึกษา 2567-2569
นอกจากนี้ ข้อมูลจากครูยังทำให้ทราบว่าสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นช่วงโควิด-19 ระบาด เด็ก ๆ ในพื้นที่ขาดแคลนและต้องการทรัพยากรอะไรที่จำเป็นต่อการเรียนรู้บ้าง ทำให้พบนักเรียนจำนวนมากที่ถูกตัดขาดจากการเรียนรู้ในช่วงการระบาด เนื่องจากในที่อยู่อาศัยไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต ยังเข้าไม่ถึงการดูแลทางสาธารณสุข และขาดแคลนอาหาร ข้อมูลที่ได้จากครูสามารถนำไปใช้ระดมทุนร่วมกับภาคเอกชน และสามารถสร้างความร่วมมือในการวางระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงถูกนำไปต่อยอดการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือไม่เพียงเฉพาะกับนักเรียนทุนเสมอภาคเท่านั้น แต่ยังใช้ดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ครอบคลุมเด็กเยาวชนทุกคนในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ
“งานที่จัดขึ้นยังเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ที่ได้จากการทำงานของครูในแต่ละพื้นที่ ภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมที่ทำให้เห็นภาพการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ ระหว่างครูทุนเสมอภาคจากทุกหน่วยงานต้นสังกัดการศึกษาทั่วประเทศ ได้เห็นกิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ว่าได้ไปพบเจออะไรบ้างมีประสบการณ์อะไรบ้างที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง มีอะไรที่เป็นเรื่องราวน่าประทับใจระหว่างที่ลงไปเยี่ยมบ้านเด็กแต่ละคนในพื้นที่ และมีกิจกรรมที่ทำให้เห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลเด็กระหว่างเยี่ยมบ้าน กิจกรรมในส่วนนี้จะแสดงให้เห็นว่าการเก็บข้อมูลเด็กให้สมบูรณ์ที่สุดเป็นเรื่องสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของ กสศ. ข้อมูลที่ได้มาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จะถูกนำไปกำหนดนโยบายในการทำงานได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลที่ได้ทำให้หน่วยงานและผู้ที่ต้องการช่วยเหลือทราบว่าจะออกแบบการช่วยเหลือเด็กที่ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียนในพื้นที่ได้อย่างไรบ้าง”
กนิษฐา กล่าวว่า อีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นในงานนี้ คือการจัดพื้นที่ให้ครูที่เข้ามาร่วมโครงการทราบว่าแม้นักเรียนที่ครูได้ไปสำรวจมาจากพื้นที่ต่าง ๆ จะไม่ได้รับทุนเสมอภาค แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่น ๆ หรือทุนอื่น ๆ ที่สามารถดำเนินการขอความช่วยเหลือนักเรียนที่ยังขาดแคลนแต่ไม่ได้รับทุนนี้อีกมากมาย โดยภายในงานจะมีข้อมูลที่บอกแนวทางในการดำเนินการอย่างละเอียด เพื่อหาทางออกให้กับนักเรียนที่ยังขาดปัจจัยในการเรียนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้ครูมาพบปะแลกเปลี่ยนสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน ยังเป็นโอกาสสำคัญในการนำประสบการณ์ของครูกลับมาสรุป สังเคราะห์ พัฒนาและขยายผลกระบวนการทำงาน รวมถึงสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ธิดารัตน์ บุญวิจิต ครู โรงเรียนเทศบาล ปากพนัง จ. นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมเล่าว่า การ เดินทาง เข้าไปสำรวจเยี่ยมบ้านเด็กในพื้นที่ ทำให้ทราบว่า เด็กบางคน มีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ค่อนข้าง ลำบาก บางคนมีบ้านอยู่ในพื้นที่ ป่าโกงกาง ต้องเดินทาง ด้วยการเดินเท้าไปกลับบ้านเท่านั้น รถไม่สามารถเข้าถึงบ้านได้ ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมแต่ละวัน เด็กจึงมาเรียนสาย เพราะต้องใช้เวลาเดินทาง มาเรียนมากกว่าเด็กคนอื่น การได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ของเด็ก ทำให้ สามารถนำปัญหา ที่ประสบอยู่ มาช่วยกันหาทางออก ให้กับเด็กได้ นอกเหนือจากการขอทุนเสมอภาคให้แล้ว ยังได้ช่วยกันหาวิธีแบ่งเบาและร่นระยะเวลา ใน การ เดินทางมาเรียน ทำให้เด็กมีกำลังใจในการมาเรียนดีขึ้น และตั้งใจ เรียนม ากขึ้น
สุดใจ บัวงาม ครูโรงเรียน บ้านเกตรี จ. สตูล เล่าว่า การลงไปเยี่ยมบ้านทำให้ทราบว่า แม้จะมีการจัดสรรทุนเสมอภาค ให้เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ แล้ว เด็ก บางคนยังต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ โดย เฉพาะ เรื่องกำลังใจ หรือทางออกในชีวิต บางคนมาปรึกษา ว่า ไม่สามารถ เรียนต่อในระบบได้ ก็ให้คำแนะนำให้ไปเรียนการศึกษา นอกโรงเรียน หรือสายอาชีพที่เหมาะสม การลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน รับฟังและช่วยแก้ไขปัญหา ส่งผลให้เด็กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะ ด้านกำลังใจซึ่งสำคัญ พอ ๆ กับเงินช่วยเหลือ กลับมามีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถหลักประกันในอนาคต ได้
จันทร์จิรา บัวทอง ครูโรงเรียน วัดเขาลำปะ อ. ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า การเยี่ยมบ้านนักเรียนในโรงเรียน ขนาดเล็ก ที่มีเด็กนักเรียน ทั้งโรงเรียน เพียง 160 คน ทำให้ทราบว่าข้อมูลของเด็กแต่ละคน ในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะ ที่มาจากครอบครัว ยากจน ซึ่งต้องการความช่วยเหลือเป็น พิเศษ เด็กกลุ่มนี้แม้จะมีปัญหา ที่คล้ายคลึง กัน คือขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ก็ยังมีรายละเอียด อื่น ๆ ที่ต้องเข้าไปช่วยประคับประคอง เช่น มาจากครอบครัว ที่แตกแยก มีแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่น ขาดทักษะ ในการดูแลลูก ๆ หรือประสบปัญหา ว่างงาน ขาดรายได้
“การเยี่ยมบ้านเพื่อจัดทำข้อมูลส่งเข้าสู่ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ มาก เพราะทำให้เห็นรายละเอียดปัญหาของเด็กแต่ละคน ที่ไม่เคยทราบมาก่อน สามารถ นำปัญหา ที่พบมาปรึกษา หาทางออก สะท้อน ไปถึงผู้ใหญ่ หรือภาคส่วนอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง กับปัญหาที่ละเอียดอ่อน ให้เข้ามาช่วยเหลือ อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง ได้”