เพื่อส่งผ่านเสียงเพลงคลาสสิคที่มีอายุนับหลายร้อยปี มาบรรเลงผ่านไวโอลินของ “ธันวา รัตนภิมล” เด็กหนุ่มที่เติบโตมาท่ามกลางความละเมียดละไมของเสียงดนตรี หมั่นฝึกฝนอย่างหนัก ใช้ทักษะทุกอย่างที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็กๆ เพื่อเข้าถึงเพลง และถ่ายทอดอารมณ์เพลงออกมาได้ลึกซึ้งที่สุด จึงเกิดเป็นคอนเสิร์ตอีกครั้งสำคัญในชีวิตของเขา “Tanwa Back Home. Violin Recital in Chingmai”
และด้วยวัย 23 ปีของธันวา รัตนภิมล พร้อมที่มอบพลังนั้นกลับไปที่บ้านเกิด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง…
ธันวา บุตรชายของ สุวิชานนท์ รัตนภิมล นักเขียน นักดนตรี นักแต่งเพลงอันเดอร์กราวส์ ที่เคยร่วมวงกับนักดนตรีชนเผ่าชาวดอย และสร้างเพลงเองมาตลอด กับแม่ที่เป็นพยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลจังหวัดเชียงใหม่ เด็กชายได้ยินเพลงคลาสสิคที่พ่อเปิดให้ฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง จนเติบโต เสียงดนตรีไม่เคยหายไปไหนตั้งแต่ลืมตาตื่นไปตลอดทั้งวัน พ่อบอกว่า บทเพลงอันละเอียดอ่อน จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน เวลาว่างของพ่อก็จะเล่นเพลงร้องเพลงให้ฟัง ธันวาอยู่ในบรรยากาศนั้นจนเข้าโรงเรียน
“ที่ได้ไปดูจริงๆ ครั้งแรก เป็นคอนเสิร์ตออเคสตร้าที่กาดสวนแก้ว เชียงใหม่ ตอนนั้นยังไม่ทำให้อยากเล่น แต่แค่ทำให้รู้จักเฉยๆ ดนตรีเพราะดี แต่ไม่ถึงกับทำให้ชอบ ตอนนั้นผมยังเล็กมาก ผมหลับเสียมากกว่า พ่อกับแม่พาไปดู”
ตอนธันวาเรียนที่โรงเรียนปรินส์รอยเยล เชียงใหม่ อยู่ชั้นประถมปีที่ 2 อายุ 9 ขวบ คุณครูได้ส่งแบบฟอร์มวิชาเรียนเป็นวิชาเลือกมาถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้เลือกลงเรียนพิเศษ ซึ่งมีทั้งวาดภาพ เกษตร หัตกรรม การประดิษฐ์ ดนตรี พ่อถามธันวาว่าลูกจะเรียนอะไร “ไวโอลินครับพ่อ” ธันวาตอบอย่างมั่นใจ “แน่ใจนะลูก” พ่อรู้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก และใช้กำลังทรัพย์ในการเรียนอยู่พอสมควร
“เห็นว่ามีวิชานี้ ไวโอลิน ก็เลยอยากลองเรียนดู จับไวโอลินครั้งแรกไม่รู้สึกว่ายาก” ธันวาบอกความทรงจำครั้งแรก
ธันวาพกพาไวโอลินไปกลับบ้านกับโรงเรียน สัปดาห์ละสองครั้งสองวัน ไวโอลินตัวแรก ธันวาตั้งชื่อให้ว่า เรดไวโอลิน หรือไวโอลินแดง
วันหนึ่ง คุณแม่ต้องนอนรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาล นอนรักษาในห้องพิเศษ ธันวาเรียนไวโอลินมาหลายเดือนแล้ว ธันวากับไวโอลินกลับจากโรงเรียน ขึ้นไปหาแม่ที่ห้องผู้ป่วย เจอน้าๆ หลายคนที่ยืนๆ นั่งๆ มาเยี่ยมแม่อยู่ก่อนแล้ว ต่างคนต่างพูดว่า อยากฟังเสียงไวโอลิน ธันวาไม่รอช้า เปิดกล่องไวโอลิน หยิบก้อนยางสน ถูคันชัก(โบว์)อย่างตั้งใจอยู่นานมาก ก่อนจะยืนเล่นไวโอโอลินให้น้าๆได้ฟังอย่างมั่นอกมั่นใจ เพลงนั้นชื่อ Twinkle , Twinkle Little Star ในหลักสูตรแบบฝึก Suzuki Violin ธันวาทำให้น้าๆ งุนงงตามๆ กัน พ่อมองเห็นความประณีตผ่านแววตาลูกครั้งแรก เสียงปรบมือดังลั่นห้อง แม่แทบหายป่วยที่เห็นลูกเล่นไวโอลินเป็นเพลงได้แล้ว
“เล่นแล้วทุกคนยิ้ม ทุกคนหัวเราะมีความสุขได้ ผมได้รับพลังแบบนี้มาในวันนั้น มันดีมากเลย มันรู้สึก อ๋อ สิ่งนี้แหละที่ผมอยากทำ” ธันวาบอกความประทับใจคราวนั้น
นับจากวันนั้น ธันวาเปิดกล่องไวโอลินฝึกซ้อมทุกวัน ตรงเวลา วันละ 50 นาทีก่อนนอน
พ่อเห็นความรักความตั้งใจของลูก จึงพยายามหาทางให้ลูกได้เรียนเสริมเพิ่มไวโอลินอย่างจริงจัง ไปปรึกษากับลุงป้าน้าอาหลายคน จนได้พบกับครูโจ้ หรือ ครูพนา นาควัชระ โดยคำแนะนำของป้าอุ๋ม วดีลดา เพียงศิริ (วนวิทย์) ที่ไปใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่ ครูโจ้รับธันวาเป็นลูกศิษย์ด้วย ได้ถ่ายทอดวิชาไวโอลินให้ธันวาอย่างตั้งใจ จนธันวาอ่านโน้ต เขียนโน้ตเพลงง่ายๆได้ รับเอาเทคนิคต่างๆ ทักษะการเล่นที่หาที่ไหนไม่ได้มาไว้กับตัว
ระหว่างที่เรียนกับครูโจ้ พ่อห่วงว่าลูกจะเบื่อในโน้ตเพลงคลาสสิค จึงหาทางเขียนเพลงร่วมกับธันวา ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ เป็นเพลงง่ายๆ ให้ธันวาเขียนโน้ตออกมาผ่านเสียงที่พ่อฮัมออกไป แปรเสียงให้เป็นตัวโน้ตแล้วบันทึกไว้บนกระดาษ แล้วตั้งชื่อเพลงว่า ยามเช้า ยามเย็น success ม้าขาว จักจั่น กว่างเริงรมย์ เขาชัยสน หุบผาแดง ทะเลจันทร์ คาวบอย คือเพื่อน ฯลฯ เป็นเพลงที่มีตัวโน้ตตัวเท่าหม้อแกง โน้ตตัวใหญ่มาก ซ้อมเพลงคลาสสิคเสร็จแล้วต่อด้วยการเล่นเพลงที่แต่งร่วมกับพ่อด้วยทุกวัน จนช่ำชองชำนาญ พ่อเลยชวนขึ้นเล่นบนเวทีด้วย ในแถบเชียงใหม่ในช่วงเวลานั้น จะเห็นธันวาขึ้นเล่นเพลงกับพ่อบ่อยๆ เล่นเพลงที่เขียนขึ้นมากับพ่อ จนสร้างความประทับใจให้ลุงป้าน้าอาตามๆ กัน
ช่วงนี้พ่อหาไวโอลินตัวที่สองให้ธันวา ด้วยเพลงที่ต้องอาศัยเสียงที่มีความกังวานมากยิ่งขึ้น ธันวาตั้งชื่อไวโอลินตัวนี้ว่า นากา ไวโอลิน ตั้งตามมนุษย์จอมพลังตัวหนึ่งในหนังสือการ์ตูน
พออายุ 12 ปี ได้ร่วมบันทึกเสียงไวโอลิน เอาเพลงที่ธันวาแต่งกับพ่อไปรวมด้วยบางเพลง เป็นเพลงบรรเลง กับกลุ่มเด็กๆ และผู้ใหญ่ และแต่งเพิ่มขึ้นมาด้วย ในนามวง ผอมอ้วนดำ Thin Fat and Black Band ออกแผ่นซีดีในชื่อ Open Dream (เปิดฝัน) โดยการสนับสนุนของกลุ่มนักกีฬาสานฝัน ตระเวนเล่นตามงานต่างๆ และในสนามกอล์ฟ เพลงบรรเลงที่มุ่งหมายให้ผู้ใหญ่ฟังแล้วมีความสุข เด็กๆ หลับสบาย
ธันวาเรียนไวโอลินอย่างเนื่อง ผ่านครูสอนไวโอลินในโรงเรียนด้วย กลับบ้านก็ซ้อมเพลง ซ้ำๆอย่างนั้น จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พ่อและญาติเล็งเห็นว่าควรไปเรียนต่อที่กรุงเทพ เพื่อมีโอกาสได้เรียนไวโอลินมากยิ่งขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเข้าเรียนต่อในคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมปูทางเรียนไวโอลินตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่4 ธันวาสอบเข้าเรียนได้ และเป็นนักเรียนที่เตรียมตัวเข้าเรียนไวโอลินในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป ธันวาสอบเข้าเรียนในคณะดุริยางคศิลป์ได้ และขยับการเรียนไวโอลินที่เพิ่มทักษะขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอาจารย์ผู้สอนจากกรีซและเยอรมัน จนฝึกฝนให้เข้าถึงเพลงคลาสสิคที่ซับซ้อน เล่นเพลงใหญ่เพลงยากได้ด้วยทักษะที่ฝึกฝนมาจนเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้นมา
ด้วยเพลงที่ซับซ้อนมากขึ้น ไวโอลินต้องรับกำลังเสียงได้เพียงพอด้วย จึงต้องเปลี่ยนไวโอลินตัวที่สาม ธันวาตั้งชื่อให้ว่า เจ้าส้ม ด้วยมีสีส้มของเนื้อไม้ และไวโอลินตัวสุดท้ายล่าสุดที่ชื่อ Rose Violin
หลังจากธันวาเลือกหยิบมาเป็นเพลงตัวจบหลักสูตรไวโอลินระดับสูง ที่ต้องใช้อารมณ์ความรู้สึก ผสานกับทักษะฝีมือเป็นอย่างมาก อย่างงานของ Bach , Brahms และ Wieniawski อันทรงพลังของคีตกวีชาวเยอรมัน และคีตกวีชาวโปแลนด์ เรียกว่าใช้พลังในการเล่นไวโอลินที่มีออกมาทั้งหมด ความมั่นใจครั้งนั้น ทำให้ เขาอยากจะส่งผ่านเพลงคลาสสิค ผ่านความรักความหวังในไวโอลินอีกครั้ง
เคยร่วมวง Yimyamp String Quartet กับกลุ่มเพื่อนๆในคณะ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล เล่นเพลงคลาสสิค เล่นในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย เคยร่วมกันจัดคอนเสิร์ตระดมหาทุนช่วยจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้เงินค่าจำหน่ายบัตรรวมยอด 6 หมื่นกว่าบาท มอบให้กับโรงพยาบาลหาดใหญ่ เพื่อซื้อเครื่องฟอกไต และอีกหลายๆ งานที่ออกไปโชว์เล่นในนามวงคลาสสิค และเคยไปร่วมแข่งขันเพลงคลาสสิครายการหนึ่งที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เคยเข้าประกวดเพลงคลาสสิค Thailand Strings 2022 ,Certificate Of Achievement และได้รับถ้วยรางวัลกลับมาด้วย เคยถูกเลือกจากคณะของมหาวิทยาลัยให้เป็นมือโซโลอีส โซโลเดี่ยว ในรายการ The Eeason Finale Concert ร่วมเวทีกับอาจารย์และศิลปินคนอื่นๆ
ธันวามีงานเล่นทั้งในสถาบันและนอกสถาบันบ่อยๆ บางงานเป็นงานละครเวที หรืองานร่วมงานกับเพื่อนๆกลุ่มนักดนตรีแจ๊ส ไวโอลินนำทางไปสัมพันธ์กับเพื่อนพ้องน้องพี่ ตามแต่เงื่อนไขและเวลาเอื้อให้
กระทั่งนำเสนอบทเพลงที่มีความยากและซับซ้อนอย่างมาก
-Bach Partita No. 2 V ‘Chaconne’
-Brahms Violin Sonata No.1
-Wieniawski Polonaise de Concert No.1
เป็นเพลงตัวจบหลักสูตรเรียนไวโอลินในระดับปริญญาตรี Senior Violin Recital ไวโอลินกับเปียโน ที่แสดงในฮอลล์ของคณะดุริยางคศิลป์ และได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ได้รับคำชมและได้คะแนนดีเยี่ยมจากคุณครูอาจารย์ผู้สอนชาวกรีซและชาวเยอรมัน จนแนะนำให้ไปเรียนต่อในต่างแดน
บทเพลงคลาสสิคที่เพียรพยายามซ้อมมาอย่างยาวนาน จนมีความมั่นใจว่าจะสื่อสารเพลงใหญ่เพลงยากออกมาได้ ร่วมกับเปียโนนั่นเอง เป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจให้เกิดคอนเสิร์ตไวโอลิน Tanwa Back Home. Violin Recital in Chiangmai
เสียงของคนหนุ่มรุ่นใหม่ เสียงของความรักความฝัน ความมุมานะพยายามอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ด้วยรักในเสียงไวโอลิน ด้วยตั้งใจให้ลุงป้าน้าอา เพื่อนพี่น้อง ครูอาจารย์ ที่เห็นธันวากับไวโอลินแต่เล็กแต่น้อย ได้ย้อนกลับมาเล่นไวโอลินให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง หลังเวลาผ่านไปนับสิบกว่าปี
อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆที่ ใฝ่ฝันจะเรียนไวโอลิน หากมีความตั้งใจมั่นและหมั่นฝึกฝนอย่างจริงๆ ทุ่มเทจริงๆ ก็สามารถเล่นเพลงคลาสสิคในระดับคีตกวีของโลกได้ หรือแม้แต่เครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ ก็ได้เกิดแรงบันดาลใจที่เห็นในความตั้งใจมั่น ทุ่มเทฝึกฝนอย่างไม่ย่อท้อตั้งแต่เด็ก จนเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้นมาได้ เหมือนได้สร้างนักดนตรีคลาสสิคอีกคนหนึ่งไว้บนแผ่นดินไทย ที่จะก้าวย่างเติบโตเป็นกำลังสำคัญให้แวดวงเพลงคลาสสิคในลำดับต่อไป
รวมถึงผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเรียนดนตรีได้มีความหวังว่า ดนตรีสามารถฝึกฝนจนเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้นมาได้ สร้างความงาม สร้างความสุข มอบความสุขให้กับคนอื่นได้ เกิดการสร้างสรรค์งอกงามอันไม่สิ้นสุดในโอกาสต่อๆไป
“อยากให้คนได้รู้จักเพลงคลาสสิคมากขึ้น รู้จักเครื่องดนตรีไวโอลินมากขึ้น ให้คนได้สัมผัสด้วยนะว่า เครื่องดนตรีนี้มันทำอะไรได้บ้าง อยากให้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนด้วย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ วงการคลาสสิคเป็นวงการค่อนข้างเล็ก เหตุผลที่วงการนี้ยังเล็ก เพราะคนยังไม่เปิดรับด้วยแหละครับ คนยังไม่ให้การยอมรับเท่าที่ควร บางทีคนไม่เข้าใจเท่าไหร่ว่า ดนตรีนี้มันดียังไง บางทีเขาคิดไปก่อนแล้ว เขายังไม่ได้รู้จักเลย อาจเป็นเพราะวงการมันแคบ การยอมรับจึงน้อยลง ถ้าเทียบกับดนตรีอื่นๆ ที่คนเข้าถึงง่ายกว่า การเข้าถึงยาก มันเป็นดนตรีที่ลึกซึ้งที่สุด ในความคิดของผมนะ ผ่านการประพันธ์ ผ่านการสร้างจากชีวิตคนแต่งจริงๆ พูดถึงแล้ว คลาสสิคมันก็ค่อยๆเติบโตขึ้น สำหรับรุ่นเด็กกว่าผมนะ รู้ว่ามันได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่มันก็ยังไม่สามารถทำได้เหมือนต่างประประเทศเท่าที่ควร ต่างประเทศบางที ผมเทียบแค่สิงคโปร์ หรือแม้แต่เวียดนามก็ตาม คนให้ความสำคัญ หรือทางรัฐให้ความสำคัญกับวงการนี้ค่อนข้างเยอะ … ”
สำหรับความฝันบนเส้นทางคลาสสิค หนุ่มน้อยธันวา บอกอย่างมั่นใจว่า
“ถ้าในประเทศไทย อยากให้มีคอนเสิร์ตเยอะขึ้น อยากให้มีคอนเสิร์ตที่คนมาดู ให้คนพูดถึงมากขึ้น ส่วนไวโอลิน ก็คงสามารถสร้างเพลงของตัวเอง แล้วก็ทำให้เป็นเนื้อเป็นตัวของผมได้ขึ้นมา ทางคลาสสิคมันได้พื้นฐานในอารมณ์ ในการแต่งเพลง อยากสร้างให้เป็นตัวผมเองอีกที ความฝันสูงสุดคือการได้เล่นหน้าวง แต่ผมได้ทำไปแล้วครั้งหนึ่ง ใน มหาวิทยาลัย (หัวเราะ) ในทางคลาสสิคสูงสุดของผม ก็คือการได้เล่นหน้าวงนั่นแหละครับ เป็นโซโลอีส (Soloist)”
งานคอนเสิร์ตครั้งนี้ ธันวาได้เชิญพ่อ ลุง อา มาร่วมเล่นเพลงที่เคยแต่งไว้ในวัย 12 ขวบด้วย หวังจะให้เกิดความเพลิดเพลินผ่อนคลายกับผู้เข้ามาร่วมชม รายได้จากการจำหน่ายบัตรส่วนหนึ่ง จนำไปสนับสนุนแวดวงไวโอลินให้กับน้องๆ กลุ่มต่างๆ ในเชียงใหม่ ที่อยากเดินตามรอยธันวา ได้มีโอกาสฝึกฝนเครื่องดนตรี และเข้าถึงเพลงคลาสสิคได้ในที่สุด
งานคอนเสิร์ต Tanwa Back Home. Violin Recital in Chiangmai จะจัดขึ้นในวันเสาร์ ที่ 24 มิถุนายน 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวลา 18:00 น. เป็นต้นไป ซื้อบัตรผ่าน inbox ในเฟซบุ๊ก Tanwa Rattanapimol เบอร์โทรศัพท์ 0810662826 หรือ ร้านเล่า นิมมานเหมินท์ หรือหน้างานแสดงคอนเสิร์ต