กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรม ‘Thank You Teacher ขอบคุณครูทุนเสมอภาค’ ภายใต้ธีมงาน สานพลังทีม เสริมพลังใจ สร้างสรรค์โอกาส เพื่อแสดงความขอบคุณครูจากทุกหน่วยงานต้นสังกัดการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ในการดูแลนักเรียนในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค จนได้ข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่นำมาขับเคลื่อนนโยบายการทำงานตลอด 5 ปีของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยกิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ณ โรงแรมเลอ แคสเซีย จังหวัดขอนแก่น
กนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีนักเรียนได้รับทุนเสมอภาคมากที่สุด และจะเป็นพื้นที่นำร่องการทำงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษาสังกัดใหม่ คือโรงเรียนพระปริยัติธรรม สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพิ่มขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่งเพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เผชิญวิกฤตปัญหาทางการศึกษาในสังกัดนี้
“การลงพื้นที่เพื่อบันทึกข้อมูลลงระบบสารสนเทศคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาคในแต่ละโรงเรียน จะถูกนำไปต่อยอดอีกหลายด้าน ข้อมูลที่ได้จากครูที่มาร่วมกิจกรรมนี้จากทุกภูมิภาครวมกัน จะถูกนำมาสรุป และพิจารณาว่าประเด็นไหนที่สามารถนำไปเป็นช่องทาง ลดภาระการทำงาน ลดขั้นตอนกระบวนการเก็บข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านนี้ของครูในแต่ละพื้นที่เพื่อจัดการไม่ให้การเก็บข้อมูลเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน รวมถึงนำไปพัฒนาเป็นกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสและแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น”
รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวอีกว่า ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคุณครูทั้ง 4 ภูมิภาค จะถูกนำไปเป็นแนวทางในการปรับแผนกลยุทธ์การทำงาน และกระบวนการทำงานเก็บข้อมูลของ กสศ. ในระหว่างปี พ.ศ. 2568-2570 ซึ่งในอนาคต กสศ. ได้วางเป้าหมายการทำงานไว้ว่า นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลเด็กเพื่อนำมาพิจารณามอบเงินอุดหนุนด้านการศึกษาแล้ว ข้อมูลและข้อเสนอจากครูจะถูกนำไปใช้เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียนทุกคนให้ครอบคลุมมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
“นอกจากการจัดสรรเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เดินทางไปเรียนหนังสือได้แล้ว จำเป็นที่จะต้องหาแนวทางอื่น ๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาอยู่ในระบบการศึกษาไปจนตลอดรอดฝั่งจนจบการศึกษา โดย กสศ. จะพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือที่สามารถทำให้ครูในแต่ละพื้นที่เห็นมิติด้านสุขภาพ ด้านพฤติกรรม ด้านการเรียนรู้ของเด็ก โดยมิติที่ครูเห็นอย่างครอบคลุมจะนำไปสู่การออกแบบแนวทางการส่งต่อความช่วยเหลือเด็กแต่ละคนได้อย่างสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เช่น ใครที่มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ก็จะส่งต่อข้อมูลให้กรมสุขภาพจิตเข้าร่วมดูแล การส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้เกิดกลไกการดูแลเด็กอย่างครบวงจร” รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าว
กิจกรรม Thank You Teacher ขอบคุณครูทุนเสมอภาค ครั้งนี้ มีคุณครูจากโรงเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกว่า 170 คน โดย กสศ. เปิดโอกาสให้คุณครูแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางการทำงานร่วมกันได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะแนวทางที่จะอำนวยความสะดวกให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเพื่อแนะแนวว่า แม้นักเรียนที่ครูได้ไปสำรวจมาจากพื้นที่ต่าง ๆ จะไม่ได้รับทุนเสมอภาค ก็ยังมีทางเลือกอื่น ๆ หรือทุนอื่น ๆ ให้สามารถดำเนินการขอความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการแลกเปลี่ยนจะถูกรวบรวมเพื่อนำไปสังเคราะห์ พัฒนาและขยายผลกระบวนการทำงาน เพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและหาแนวทางลดความเหลื่อมล้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
สายชล แดงนา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาวังเวิน จ.หนองบัวลำพู เล่าว่าการลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเพื่อเก็บข้อมูลนักเรียน เป็นหนึ่งในนโยบายที่โรงเรียนกำชับให้ครูช่วยกันดำเนินการให้ครบทุกคน โดยการไปเยี่ยมบ้าน เมื่อพบว่ามีนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ นอกเหนือจากการนำข้อมูลความเป็นอยู่ของเด็กส่งขอทุนเสมอภาคแล้ว โรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ยังนำปัญหาที่พบเจอมาออกแบบวิธีการช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็นให้ได้มากที่สุดอีกด้วย
“หากเจอสภาพบ้านเด็กทรุดโทรมก็จะช่วยกันหาแหล่งทุน หาวิธีระดมทุนเพื่อช่วยซ่อมแซมบ้าน ซึ่งทำให้เห็นภาพที่น่าประทับใจมากมาย ได้เห็นคนในพื้นที่ทุกคนเต็มใจช่วยกันตามกำลังความสามารถ เช่น ช่วยกันทำเสื้อขาย ช่วยกันจัดกิจกรรมระดมการช่วยเหลือเหมือนการทำบุญทอดผ้าป่า ได้เห็นภาพเด็กนักเรียนหลายคนแสดงความมีคุณธรรม ยอมสละค่าขนมของตัวเองเพื่อช่วยเพื่อนที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากมากกว่าตัวเขา”
ทัศนวิทย์ สิทธิโท ครูโรงเรียนศรีเกษตรวิทยา กล่าวว่าโรงเรียนเป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม แผนกบาลี และแผนกสามัญ ตั้งอยู่ภายในวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม จังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะนักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน ไม่สามารถส่งเสียให้บุตรหลานเรียนในโรงเรียนทั่วไปได้ ต้องใช้วิธีให้บวชเรียนเพื่อหาโอกาสด้านการศึกษา
“หากสามเณรบางรูปที่เรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับแล้วลาสิกขา โดยตั้งใจที่จะศึกษาต่อในสายอาชีพหรือเรียนด้านไหน โรงเรียนก็จะช่วยหาช่องทางสนับสนุน หากไม่ประสงค์จะบวชเรียนต่อ หลังจบการศึกษาภาคบังคับ โรงเรียนก็จะให้ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การทำเกษตรให้สามารถนำไปหาเลี้ยงชีพต่อไป การสนับสนุนจาก กสศ. ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมจะแตกต่างจากสังกัดอื่น คือสนับสนุนเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระและสามเณร เช่น อังสะ หรือเครื่องนุ่งห่มด้านในจีวรของพระสงฆ์ หรือ อุปกรณ์การเรียน การสนับสนุนที่ได้รับช่วยให้มีกำลังใจในการเรียนมากขึ้น