นับเป็นเวลากว่า 1 ปีที่คนไทยรู้จัก “เคหะสุขประชา” ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มผู้มีสถานะโสด กลุ่มครัวเรือนใหม่ และกลุ่มครอบครัวที่มีรายได้น้อย ผ่านโครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพ รวมถึงโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชน
เมื่อ “เคหะสุขประชา” ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนเปราะบางผ่านโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินงานอยู่ในขณะนี้ ทำให้การประชาสัมพันธ์กิจกรรมข่าวสาร ตลอดจนความเคลื่อนไหวต่างๆ ขององค์กรยังต้องมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะภารกิจสำคัญ คือ การทำให้ “เคหะสุขประชา” เป็นหนึ่งในองค์กรที่ยืนหยัดและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้คนต่อไปในอนาคต
และภารกิจนี้ จำเป็นที่บริษัทฯ จะต้องเฟ้นหาบุคลากรที่มีทัศนคติและมุมมองที่สอดคล้องกัน เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านแบรนด์ดิ้ง โดยจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญ มาจาก คุณวีรินทร์ อรวัฒนพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.เคหะสุขประชา ที่มีโอกาสได้พบกับ คุณดลชัย บุณยะรัตเวช (ไอ๋) ผู้คร่ำหวอดในวงการโฆษณามากว่า 40 ปี พร้อมแนวคิดในการดำเนินชีวิตโดยใช้หลักธรรมเป็นพื้นฐาน และมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งหลังจากได้มีการพูดคุยหารือและเห็นถึงแนวทางร่วมกัน จึงได้เข้ามานำเสนอแผนงานกับผู้บริหารขององค์กร จนในที่สุดได้ก้าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านแบรนด์ดิ้ง บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) หรือ K-HA นับตั้งแต่นั้น
โดยคุณดลชัย ได้อธิบายถึงเหตุผลที่องค์กรไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็ก ต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง แบรนด์ หลายคนอาจจะเข้าใจว่า Branding คือ การโฆษณา ซึ่งแท้จริงแล้ว การโฆษณา คือ การเล่าเรื่อง แต่ Branding คือ กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว เป็นกลยุทธ์คุณค่า (Value) ที่จะชนะใจผู้คน ยึดเอาไว้อย่างมั่นคง ถาวร และยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นแนวทางนำพาให้คิดกลยุทธ์ตลาดได้แม่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในการออกสินค้าหรือบริการ รวมถึงกลยุทธ์ในการสื่อสารเพื่อการเข้าหากลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน อย่างแรกองค์กรจะต้องเข้าใจก่อนว่า พันธกิจ ค่านิยม และวิสัยทัศน์ ไม่เหมือนกัน เราจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่า องค์กรต้องการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายแบบไหน เพราะ Branding เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร เป็นจุดเริ่มต้นในทุกๆ อย่าง ยกตัวอย่างเช่น หากองค์กรไม่ได้ใช้แบรนด์ให้เป็นประโยชน์ องค์กรนั้นจะกลายเป็น Business as usual หรือ ธุรกิจธรรมดา ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีตัวตนชัดเจน
” Branding จึงเป็นการเดินทางแห่งคุณค่า เป็นการเดินทางแห่งความสัมพันธ์ ทำให้คนสัมพันธ์กับองค์กรในระยะยาว เป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้คน ไม่ใช่การโฆษณา ไม่ใช่การตลาด แต่เป็นศิลปะให้แต่ละองค์กรสร้างความคิดสร้างสรรค์ ได้ถูกที่ ถูกทาง มีการจัดกระบวนการความคิด การออกแบบให้มีลูกเล่น ทำให้มีเสน่ห์ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละแบรนด์ไม่เหมือนกัน เช่น หากเราเห็นแบรนด์นี้ทำอะไรแล้วอยากทำตาม แต่ไม่สะท้อนตัวตนของเราก็ไม่ได้ เพราะแต่ละแบรนด์ก็มีสไตล์การแสดงออกไม่เหมือนกัน อย่าลืมว่า Branding คือ การสร้างประสบการณ์ ไม่ใช่การขายสินค้าและบริการ”
หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน การขายสินค้าและบริการเป็นเรื่องของเหตุผล แต่การสร้าง แบรนด์เป็นการเอาชนะใจคนด้วยอารมณ์และความรู้สึก ทำให้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมันมีคุณค่าพิเศษ ที่อยู่เหนือไปจากข้อโต้เถียงในด้านเหตุผล เพราะสมัยนี้สินค้าและบริการเท่ากันหมด เช่น สร้างบ้านก็ต้องแข็งแรงเท่ากันหมด บ้านแบบนี้สวย ใช้ปูน หรือ สียี่ห้อนี่ทาดีคงทนแข็งแรง เรียกได้ว่า สินค้าทุกเจ้าดีเหมือนกันเหมือนกันหมดในด้านฟังก์ชัน (Function) แต่คุณค่าที่สร้างได้มากกว่านั้น คือ การเดินทางแห่งคุณค่า ว่าทำไมต้องเลือกแบรนด์นี้ นั่นเป็นเพราะอารมณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก หรือประสบการณ์ร่วม และเราต้องไม่ลืมว่า Branding คือ สิ่งที่ผู้บริโภคพูดถึงองค์กร แต่ถ้าเราเป็นผู้พูดถึงแบรนด์เองนั่น คือ การโฆษณา
สำหรับการได้เข้ามาร่วมงานเป็นที่ปรึกษาทางด้านแบรนด์ดิ้ง ของเคหะสุขประชานั้น คุณดลชัย เล่าว่า เรารู้สึกภูมิใจที่ทำให้องค์กรมีเข็มทิศ ในการสร้างคุณค่า ในทุกองคาพยพได้อย่างยั่งยืน หน้าที่ของผม คือ การรวบรวมจิตวิญญาณเคหะสุขประชาให้กลายเป็นหนึ่งประโยค หรือ หนึ่งความคิดที่ต้องฝังในใจของคนทุกคน ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่าเคหะสุขประชาเป็นมนุษย์แบบไหน เกิดมาเพื่ออะไร นิสัยเป็นอย่างไร และกำลังส่งสัญญาณ หรือ สื่อสารอะไรกับผู้คนอยู่ ซึ่งทุกคนในองค์กรจะต้องคิดแบบนี้ ไม่ต้องท่องจำ แต่ให้ซึมเข้าไปในสายเลือด ในลมหายใจ และสามารถส่งต่อมาเป็นพฤติกรรมได้ทุกวัน
อย่างแรกเราต้องทำเคหะสุขประชาให้เป็น Human Company หรือ มีความเป็นมนุษย์เข้าใจแก่นแท้ และธรรมชาติขององค์กร แต่ตอนนี้ถ้าหากให้คนในองค์กรอธิบายธรรมชาติขององค์กร ทุกคนก็จะอาจจะพูดกันเป็นคนละแบบ ซึ่งหน้าที่ของผม คือ การให้ทุกคนในเคหะสุขประชาพูดในสิ่งเดียวกัน
สำหรับมนุษย์ที่ชื่อ “เคหะสุขประชา” ต้องมีบทบาท 2 ข้อสำคัญ ดังนี้
• บทบาทที่หนึ่ง คือ ผู้นำเส้นทางที่มั่นคง( Navigator to stability ) ที่มากับแนวทาง สู่โอกาสการสร้างชีวิต ที่เลี้ยงดูตนเองได้อย่างมั่นคง
• บทบาทที่สองคือ ผู้ช่วยเหลือและสนับสนุน ( Supporter to betterment ) ที่มากับความเข้าใจ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความเสมอภาค
“เคหะสุขประชา จึงเสมือนเป็นผู้นำทาง และผู้สนับสนุน เพราะเราไม่ได้มีแค่บ้านราคาถูก ไม่ได้ขายแค่บ้านสี่เหลี่ยม แต่มาพร้อมกับอาชีพ การฝึกทักษะการทำงานหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเกษตร งานช่าง งานบริการ งานการตลาด งานออนไลน์ ผมมองว่านี่ คือความพิเศษเป็นพลังที่เข้มแข็ง จุดเด่นคือ การให้โอกาสเพื่อสร้างความมั่นคง และชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญจะพึ่งพาตัวเองได้ต่อไปในอนาคต”
เมื่อเรามีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน เข้าใจในวัตถุประสงค์ (Purpose) ว่าจะเป็นทั้งผู้นำทาง และผู้สนับสนุนให้กับกลุ่มครัวเรือนเปราะบางให้เขามีบ้านเช่าพร้อมอาชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น และต้องได้อย่างยั่งยืนในอนาคต หน้าที่สำคัญของผมคือ ต้องคุมวัตถุประสงค์ให้อยู่ในร่องเดียวกัน เพื่อสร้าง Branding ให้เป็นในทิศทางเดียวกัน จนทำให้เกิดพฤติกรรมเรียนรู้ในทุกๆ เพื่อพาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้อง
เพราะทั้งหมดนี้ คือ การเดินทางแห่งคุณค่า (Journey of value) ที่ไม่มีวันหยุด แม้คนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปกี่รุ่นก็ตาม แต่ทุกคนจะรู้ว่านี่ คัมภีร์ของแบรนด์ และ คัมภีร์ของแบรนด์นี้ เรียกว่า “วิถีสุขประชา” ซึ่งเป็นวิถีในการสร้างชีวิตที่ดีขึ้น สร้างโอกาส สร้างอาชีพเพื่อการเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ นี่คือ Purposeful Brand แบรนด์ที่มีเจตนารมย์และเป้าหมายที่มุ่งมั่นชัดเจน ในการมอบโอกาสและวิถีทางเพื่อสร้างชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น สู่การมีชีวิตที่ยั่งยืน
คุณดลชัย กล่าวอีกว่า นี่คือความภูมิใจของเคหะสุขประชา โดยเฉพาะการทำให้กลุ่มครัวเรือนเปราะบางเกิดความเสมอภาค ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่พวกเราต้องทำ และพูดกับทุกคนในสังคมได้รับรู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนกลุ่มไหน แต่ทุกคนเสมอภาค มีความเป็นมนุษย์เท่ากันหมด ไม่ว่าจะยากดี มีจน ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง ตัวผมเองก็เชื่อมั่นในเรื่องนี้มาตลอด และชื่นชมค่านิยมขององค์กรของเคหะสุขประชา ที่ให้ความเสมอภาคกับทุกคน การได้เข้ามาร่วมงานกับเคหะสุขประชา จึงถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก ที่จะได้ช่วยเหลือสังคมในมุมที่ผมถนัด เช่นเดียวกันกับเคหะสุขประชาที่เกิดมาเพื่อยกระดับสังคมให้ดีขึ้น และเกิดความเสมอภาคกันได้ในที่สุด
“การได้เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาใน Social Enterprise ถือเป็นอีกพันธกิจที่ผมอยากทำ เมื่อเรามีความรู้ ความสามารถก็ต้องนำสิ่งที่เรากลับคืนให้กับสังคม ปัจจุบันผมก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงการได้เข้ามาช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาให้พวกเขามีแพลตฟอร์มในการทำงาน และล่าสุดการเข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านแบรนด์ดิ้ง ให้กับเคหะสุขประชานี้จะช่วยกันผลักดันวิถีสุขประชาให้ช่วยยกระดับสังคม เกิดความเสมอภาคต่อไปในอนาคต”