ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ และกำลังกับเผชิญภัยแล้งที่แย่ที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงนี้อาจทำให้กรุงเทพ ฯ และเมืองสำคัญต่าง ๆ จมลงในอีก 15 ปี ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยวและการจัดการสังคม ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มูลนิธิ กู้ดเนเบอร์ซ (ประเทศไทย) เปิดพื้นที่เสวนา “วิกฤตสภาพภูมิอากาศกับเยาวชน” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมเสวนา ในวันอาทิตย์ ที่ 27 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สำหรับการเสวนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาวิกฤตภาวะโลกร้อน โดยเน้นให้เยาวชนเป็นกระบอกเสียงกระตุ้นเตือนผู้ใหญ่และผู้เกี่ยวข้อง ให้แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า วิกฤตภาวะโลกร้อน นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
- ผู้ร่วมเวทีเสนา“วิกฤตสภาพภูมิอากาศกับเยาวชน” ประกอบด้วยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิกฤตสภาวะโลกร้อน มาแลกเปลี่ยนทัศนะพูดคุยบนเวที ได้แก่ 1.ดร.จิดาภา คุ้มกลาง คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2.ผศ.ดร.ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ (พิธีกรวงเสวนา) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.ผศ .ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านนโยบายสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค นักวิชาการในกลุ่ม Thai Climate Justice for ALL 4.คุณวราภรณ์ รักษาพราหมณ์ เจ้าหน้าที่จาก UNICEF , Environment and Climate Action. 5.คุณพิทยาภรณ์ พุทธสินธุ์ ตัวแทนเยาวชนจากเพจ greenyou.th
โดยก่อนการเสวนา นายซอกจุน ฮง (ผู้อำนวยการประเทศ) มูลนิธิ กู้ดเนเบอร์ซ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า “วิกฤตสภาพภูมิอากาศกับเยาวชน” เป็นเรื่องที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงวิกฤตภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบปัจจัยหลายอย่างที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด นอกจากให้ทุกคนได้ตระหนักและลดพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อผ่อนวิกฤตภาวะโลกร้อน ให้ชะลอลง โดยหวังว่าในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะมีวิธีที่สามารถขจัดปัญหาภาวะโลกร้อนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเยาวชน คือกลุ่มประชากรหลักที่จะต้องเผชิญกับปัญหานี้อย่างรุนแรงในอนาคต วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพและทุกแง่มุมของชีวิตของเด็ก ขณะเดียวกันเยาวชนคือผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและศักยภาพในการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ สร้างความเข้มแข็งและเกิดการปรับตัว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายของ มูลนิธิ กู้ดเนเบอร์ซ (ประเทศไทย) ที่ต้องการผลักดันพร้อมส่งเสริมให้คนไทยทั่วประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีอายุยืนยาว (Live longer, healthier, better lives)
ในการเสวนาครั้งนี้มีกลุ่มตัวแทนเยาวชน ได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยบนเวที เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ต่างๆ ที่จะหาแนวทางป้องกันปัญหาวิกฤตภาวะโลกร้อน ไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ผู้ใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปัญหานี้ ได้เพิ่มมาตรการที่จริงจังมากขึ้นกว่าเดิม โดยแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องให้ความสำคัญกับเด็กและเยวชน และคำนึงถึงความต้องการของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องมีมาตรการที่จะปกป้องพวกเขาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม
การรับมือและการเผชิญหน้ากับโลกเดือดนั้นอาจจะยาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือการทำความเข้าใจ เรียนรู้ และเตรียมความพร้อม ซึ่งจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ของโลก โดยการ “โอบกอดโลกไว้ในวันที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม”