ทั่วโลกหนุนแนวคิดธุรกิจยั่งยืน-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดันอุตสาหกรรมกระดาษโตต่อเนื่อง กลุ่มกระดาษคราฟท์ครองส่วนแบ่ง 80% เล็งอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ ด้านองค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมกระดาษไทยและนานาชาติ ร่วม อินฟอร์มา จัดงาน ASEAN Paper Bangkok 2023

นายวัชชระ  ชินเศรษฐวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย กล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษว่า ทิศทางของหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องการลดการใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสียจากการผลิต รวมถึงสนับสนุนการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ กระดาษจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้และนำมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ ทำให้หลายธุรกิจและอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาใช้กระดาษเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งกระดาษในวันนี้ได้ถูกพัฒนาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้มีทั้งความคงทน แข็งแรง ตอบสนองต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ในหลายรูปแบบ แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมกระดาษเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมกระดาษยังได้รับผลบวกจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกระดาษคราฟท์ ที่มีสัดส่วนการผลิตกว่า 80% และใช้วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลกระดาษปีละหลายล้านตันได้รับผลดีตามไปด้วย ซึ่งภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นกลุ่มผู้บริโภคและผู้ผลิตอันดับต้นของโลก โดยเฉพาะอาเซียนที่เป็นฐานการผลิตของหลายอุตสาหกรรม ทำให้ไทยกลายเป็น HUB และเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่หลายประเทศให้ความสำคัญ รวมถึงผู้อยู่ในอุตสาหกรรมกระดาษจากทั่วโลก

งาน ASEAN Paper Bangkok 2023 ในครั้งนี้ มีความสำคัญต่ออนาคตของอุตสาหกรรมกระดาษไทยและโลกเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นงานฯ ที่เป็นการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ เจรจาธุรกิจการค้าร่วมกันแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมความร่วมมือ พร้อมกำหนดแนวโน้มทิศทางของอุตสาหกรรมกระดาษในอนาคตร่วมกันอีกด้วย

         

 นายพรรธระพี ชินะโชติ ประธานกรรมการร่วม อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวถึงการจัดงาน ASEAN Paper Bangkok 2023 ว่า อาเซียนมีประชากรมากถึง 680 ล้านคนในปี 2565 เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีการบริโภคสูง เป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของโลก โดยมีกระดาษเข้าไปเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหรือเป็นบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการจัดงานฯ ในครั้งนี้จึงดึงดูดความสนใจจากบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกให้มารวมกันอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อจัดแสดงตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เครื่องจักร โซลูชั่น นวัตกรรมเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์กระดาษประเภทต่างๆ ที่ครบวงจรที่สุดของภูมิภาค โดยแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ คือ “เทคโนโลยีการผลิตกระดาษเพื่อความยั่งยืนและโซลูชั่นสำหรับธุรกิจของอนาคต” (Sustainable Paper Production Technology & Solution for Future Business) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มและทิศทางของธุรกิจและอุตสาหกรรมของโลก

            โดยไฮไลท์ของงานฯ ในครั้งนี้ คือ การเปิดพื้นที่โซนจัดแสดงงานใหม่ในกลุ่มกระดาษลูกฟูกและกระดาษรีไซเคิล (Corrugated and Paper Recycling) ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มใหญ่ของอุตสาหกรรมกระดาษ และในการจัดงานยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรธุรกิจสำคัญในอุตสาหกรรมทั้งไทยและนานาชาติ อาทิ Federation of ASEAN Pulp and Paper Industries (FAPPI), The Australasian Pulp and Paper Technical Association (Appita) จากประเทศออสเตรเลีย,  Indian Agro & Recycled Paper Mills Association (IARPMA) จากประเทศอินเดีย, Myanmar Pulp And Paper Industry Association (MPPIA) จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์, Vietnam Pulp and Paper Association (VPPA) จากประเทศเวียดนาม, Printing and Packaging Industry Club (FTI) กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ The Thai Pulp and Paper Industries Association (TPPIA) สมาคมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษไทย จากประเทศไทย

รวมทั้งยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในหัวข้อ ทิศทางอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษในอนาคต The Future of Tissue and Paper Forum การบรรยายพิเศษเจาะลึกอุตสาหกรรมกระดาษกับ Technical Insights และ Executive Insights The World’s Market Trend of Pulp and Paper Industry ฯลฯ ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้มีบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมจัดแสดงงานกว่า 200 ราย และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 3,000 ราย จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจในอุตสาหกรรมกระดาษให้เข้ามาเยี่ยมชมงาน ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนา สร้างมูลค่า และต่อยอดธุรกิจได้เป็นอย่างดี

งาน ASEAN Paper Bangkok 2023 เริ่มแล้ววันนี้1 กันยายน 2566 ฮอลล์ 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.aseanpaperbangkok.com

Related posts