สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีสำหรับการเปิดรับลงทะเบียนผู้ประกอบการจากทั่วประเทศ เพื่อรับการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจ บนระบบ BDS ภายใต้ “โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (MSME Recovery & Beyond) ปีงบประมาณ 2566” หรือแคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมทำงานเชิงรุก เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั่วประเทศ ล่าสุด หนุน “บริบูรณ์ฟาร์ม” จาก อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจให้เติบโตอย่างมีมาตรฐานสู่สากล
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)กล่าวว่า “ที่ผ่านมา สสว. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านระบบ BDS หรือ ‘SME ปัง ตังได้คืน’ ปี 2565 เพื่อให้ MSME ได้รับการพัฒนาธุรกิจของตน ในรูปแบบที่สามารถเลือกรับบริการที่ตรงตามความต้องการของตน ภายในหน่วยให้บริการต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ได้ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน สำหรับปี 2566 นี้ สสว. ได้สานต่อแคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” โดยมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (MSME Recovery & Beyond) ปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการ MSME ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจได้เพิ่มขึ้น โดยมีการปรับรูปแบบการดำเนินการให้สะดวกขึ้น หลากหลายขึ้น และมุ่งเป้ามากขึ้น มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานในทุกธุรกิจให้เทียบเท่าสากล เพื่อธุรกิจจะเข้มแข็ง พร้อมหนุนเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง เติบโต มั่นคง อย่างยั่งยืนต่อไป โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้”
ด้าน นางฐิติรัตน์ ศักดาปรีชา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริบูรณ์ฟาร์ม จำกัด อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา อดีตพยาบาลที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการแปรรูป “อะโวคาโด” โดยนำมาสกัดเป็น “น้ำมันซอฟต์เจล” จนได้รับมาตรฐานเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ BDS เปิดเผยว่า “จากที่ดําเนินธุรกิจมา และเข้าโครงการก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี โดย สสว. ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือหลายด้าน ตั้งแต่การให้องค์ความรู้ สนับสนุนงบประมาณ และแนะนำช่องทางการทำการตลาด โดยเฉพาะงบประมาณสนับสนุน ผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮีโร่โปรดักส์ของเรา คือ การนําน้ำมันอะโวคาโด ที่ผ่านการวิจัยมาฉีดเข้ากับซอฟต์เจล ถือเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเรา”
“สำหรับสิ่งที่อยากได้รับความช่วยเหลือจาก สสว. ผ่านโครงการนี้ คือ การเปิดตลาดต่างประเทศ โดยอยากได้รับคำแนะนำ ทั้งการเตรียมการ และงบประมาณสนับสนุนบางส่วน ส่วนตัวคิดว่าโครงการ BDS เป็นโครงการที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ BDS จะมีจุดเริ่มจากความต้องการของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ความต้องการของภาครัฐ ว่าอยากจะให้อะไรผู้ประกอบการ จึงทําให้บรรลุวัตถุประสงค์ง่าย เพราะบางอย่างที่เราได้มา อาจเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการหรือเราขาด แต่สำหรับโครงการ BDS คือ เราขาด และเราต้องการ เมื่อเสนอขอไปก็ได้รับความสนับสนุน จึงทําให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นางฐิติรัตน์ กล่าว