สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สานพลังสร้างสัมพันธ์เครือข่ายนานาชาติ COSMED องค์กรระดับนานาชาติ หนึ่งในเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศฝรั่งเศส หนุนเสริมธุรกิจเครื่องสำอาง SMEs ไทย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมทักษะความรู้ของธุรกิจแห่งอนาคตให้กับผู้ประกออบการ เรื่อง “The opportunity of Thai cosmetic ingredients/products to EU market” โดย Dr. Caroline BASSONI, Regulatory Affairs Director, COSMED, FRANCE ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (MSME Recovery & Beyond) ปีงบประมาณ 2566” ใต้แคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยกลุ่มเครื่องสำอางที่ต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดยุโรป ให้ได้ความรู้รอบด้านตามมาตรฐานอียู
ภายในงานเมื่อเร็วๆ นี้ (19-20 ก.ย. 66) ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคาร Admin สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), Dr. Caroline Bassoni, (ดร.แคโรไลน์ บาสโซนี) Regulatory Affairs Director, COSMED, France ร่วมด้วยผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญ นางสาวนิธิวดี สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs และส่งเสริมนโยบายภาครัฐ (สสว.), ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ (วว.) นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (วว.), ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม (วว.), ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (วว.), ดร.ภัทราวีร์ ทองอ่อน และ ดร.ธัญชนก เมืองมั่น นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (วว.) ร่วมให้ความรู้ และแนะแนวทาง ท่ามกลางผู้ประกอบการเข้าร่วมสัมมนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจำนวนมาก
รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สสว. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านระบบ BDS เพื่อให้ MSME ได้รับการพัฒนาธุรกิจของตน ในรูปแบบที่สามารถเลือกรับบริการที่ตรงตามความต้องการของตน ภายในหน่วยให้บริการต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งยังได้ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ
“ในปีนี้ สสว. ได้สานต่อแคมเปญ ‘SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2’ โดยมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (MSME Recovery & Beyond) ปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการ MSME ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจได้เพิ่มขึ้น โดยมีการปรับรูปแบบการดำเนินการให้สะดวกขึ้น หลากหลายขึ้น และมุ่งเป้ามากขึ้น มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานในทุกธุรกิจให้เทียบเท่าสากล เพื่อธุรกิจจะเข้มแข็ง พร้อมหนุนเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง เติบโต มั่นคง อย่างยั่งยืนต่อไป”
ผอ.สสว. กล่าวต่อไปว่า “การจัดเสวนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เราตั้งใจจัดขึ้น โดยสืบเนื่องมาจากเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) กับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้เดินทางไปประเทศฝรั่งเศส และประเทศเบลเยี่ยม เพื่อศึกษาดูงาน และหารือกับองค์กรชั้นนำ มุ่งสร้างความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติ เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานระหว่างกัน สู่การพัฒนา เพื่อยกศักยภาพ SME ไทยให้ประสบความสำเร็จ หลังจากกลับมา เราก็ได้หารือกันถึงแนวทางการหนุนเสริมผู้ประกอบการไทย จึงเกิดสัมมนาในหัวข้อ “The opportunity of Thai cosmetic ingredients/products to EU market” ขึ้นเป็นกิจกรรมแรก พร้อมเรียนเชิญDr.Caroline BASSONI, Regulatory Affairs Director, COSMED, FRANCE มาบรรยายให้ผู้ประกอบการไทยกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง ที่ต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดยุโรป ได้รับรู้แนวทางในการเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่ตลาดของกลุ่มประเทศอียูต่อไป”
ด้าน ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจเครื่องสำอางของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนด้านความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพประกอบด้วย พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และแร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสมุนไพร ซึ่ง วว. และ สสว. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการสนับสนุนการสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยทั้งในและต่างประเทศ นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว วว. ยังมีโครงสร้างพื้นฐาน คือ ศูนย์บริการนวัตกรรมเวชสำอางแบบครบวงจร หรือ ICOS ที่มีศักยภาพรองรับการให้บริการผลิตเครื่องสำอาง สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการมีแบรนด์ และเป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง โดยไม่ต้องลงทุนตั้งโรงงาน ส่วน สสว. มีภารกิจมุ่งบูรณาการ และผลักดันการส่งเสริม MSME ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล จากความพร้อมและศักยภาพของทั้งสองหน่วยงาน จึงเป็นกลไกขับเคลื่อน ในการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้มแข็งและมีศักยภาพด้านการแข่งขันมากขึ้น”
ขณะที่ Dr.Caroline Bassoni, (ดร.แคโรไลน์ บาสโซนี) Regulatory Affairs Director, COSMED, France เปิดเผยว่า “COSMED เป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น เป็นสถาบันอบรมครูฝึก ตรวจสอบและติดตามเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ เชื่อมต่อและสร้างเครือข่ายให้กับภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท หรือแนะนำแนวทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจด้านเครื่องสำอาง ปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 1,000 รายจากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง”
Dr.Caroline(ดร.แคโรไลน์) กล่าวต่อไปว่า COSMED มีบทบาทในการพัฒนาและแสดงความเห็นทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และระเบียบปฎิบัติเกี่ยวกับเครื่องสำอาง รวมถึงทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ และระดับนานาชาติ และทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านเครื่องสำอางหลายภาคส่วน ในหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังให้บริการด้านมาตรฐานและการรับรอง (Standardization or the certification) อาทิ AFNOR (a French Standard), CEN (a European Standard), ISO (International Standard)
ภายในการสัมมนาฯ ผู้ประกอบการได้รับความรู้และแนวทางในการเตรียมความพร้อม ผ่านเนื้อหาเข้มข้นเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เพื่อเข้าสู่ตลาดของกลุ่มประเทศอียู ทั้งระเบียบและมาตรฐานเบื้องต้นสำหรับผลิตภัณฑ์สารสกัด อาทิ กรอบและขอบข่ายการกํากับดูแล และข้อกําหนด รวมถึงเอกสารที่สำคัญเพื่อส่งออกสารสกัดจากธรรมชาติไปยังสหภาพยุโรปหรือประเทศฝรั่งเศส, วิธีการอ้างส่วนผสมและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและออร์แกนิกในสหภาพยุโรปหรือประเทศฝรั่งเศส, การรับรองเครื่องสําอางออร์แกนิกในประเทศไทย, การทดสอบวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ สําหรับผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ และเครื่องสำอาง
การอบรมครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ ในการยกระดับผู้ประกอบการ SME ไทย ด้านเครื่องสำอาง ให้มีพร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดสากล ที่ สสว.และ วว. ตลอดจนพันธมิตร ได้หนุนเสริมอย่างจริงจัง ทั้งองค์ความรู้ ทักษะ การเพิ่มโอกาส และช่องทางการตลาด เพื่อ SME ไทยจะพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน