ถิ่นวัฒนธรรมทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ วันนี้พอจัดรายการแล้วเสร็จที่คลื่นข่าว fm 100.5 Mhz เวลา 12.00 น. ผมก็มาเดินเที่ยวเล่น ดูตึกเก่าๆ หาอาหารอร่อยๆ ใน “ตลาดนางเลิ้ง” ริมคลองผดุงกรุงเกษม เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ได้ทั้งอาหารปาก อาหารตาและอาหารใจกันเลยทีเดียวครับ
“ตลาดนางเลิ้ง” เป็นย่านการค้าเก่าแก่อายุเกิน 100 ปี ดังนั้นเรื่องราวความเป็นมาของตลาดแห่งนี้น่าสนใจมากจริงๆ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน วัฒนธรรม
เรื่องแรก จากที่ว่า “ตลาดนางเลิ้ง” มีมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีชาวจีนเข้ามาอาศัยและทำมาค้าขายกันมากก็มาอาศัยอยู่ที่ย่านนางเลิ้งเมื่อครั้งกระนั้นเรียกว่า “ชาวจีนนอกพระนคร” ซึ่งก็มีชาวตะวันตกอาศัยอยู่ในย่านนี้ด้วยตามความเชื่อนั้นเพราะว่าสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวสยามในกรุงรัตนโกสินทร์มีการติดต่อค้าขายกับจีนแผ่นดินใหญ่หรืออาณาจักรแผ่นดินจีนสันนิษฐานว่าชาวจีนคงเข้ามาตั้งเป็นชุมชนอยู่นอกพระนคร ล่วงเข้ามาสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2396 ครั้งนั้นทรงโปรดฯให้จัดสร้างวัดโสมนัสเพื่ออุทิศพระกุศลถวายให้สมเด็จพระนางเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า “วัดโสมนัสราชวรวิหาร” ทุกวันนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นโทและต่อมาล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ก็โปรดฯ ให้ขุดคลองรอบกรุงรัตนโกสินทร์โดยใช้แรงงานชาวจีนเพื่อขุดเจาะให้เป็นคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาด้านวัดเทวราชกุญชรวรวิหารหรือทุกวันนี้คือย่านเทเวศน์ผ่านวัดโสมนัสราชวรวิหาร ไปเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านวัดแก้วแจ่มฟ้า นี่แหละจุดเริ่มต้นของ “เกาะกรุงรัตนโกสินทร์” พอขุดคลองแล้วเสร็จล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 พระราชทานให้ชื่อว่า “คลองผดุงกรุงเกษม” พอมีคลองผดุงกรุงเกษมแล้วในย่านชาวจีนก็เริ่มมีบ่อนการพนันหรือโรงพนัน ก็กลายเป็น “ตลาดลอยน้ำ” ในคลองผดุงกรุงเกษมเกิดขึ้นครับ
ครั้นเข้าสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้คนพ่อค้าแม่ค้ามากมายนำสินค้าท้องถิ่นต่างๆ มาขายโดยเฉพาะตุ่มหรือโอ่งน้ำของชาวมอญรามัญจากเมืองสามโคก (ปทุมธานี) แจวเรือเอาตุ่มมาขาย ชาวจีนก็ซื้อตุ่มไว้เพื่อใส่น้ำไว้ใช้ แต่ข้างๆ ตุ่มน้ำได้เขียนชื่อตุ่มว่า “อีเลิ้ง” พอชาวบ้านมาตลาดลอยน้ำ เห็นคำว่า “อีเลิ้ง” ก็เลยเรียกกันติดปากต่อๆ กันมาว่าอีเลิ้ง ๆ เลยเข้าใจกันว่านี่คือที่มาของชื่อ “ตลาดอีเลิ้ง” หรือไม่ก็สันนิษฐานกันว่า “ตลาดนางเลิ้ง” ชื่อนี้มีที่มาจากเมื่อครั้งสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 5 มีการยกเลิกบ่อนพนันหรือโรงบ่อนเพราะผิดพระราชบัญญัติแผ่นดิน ดังนั้นในตลาดอีเลิ้ง โรงบ่อนพนันก็หมดไป ส่วนคำว่าตลาดอีเลิ้งคงเปลี่ยนมาเรียกว่า “นางเลิ้ง” เพราะคำว่า นางนั้นไพเราะสุภาพกว่าคำว่า “อี” หรือมีข้อสันนิษฐานอีกว่า ในสมัยรัฐบาล ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามประเทศมาเป็นประเทศไทยและชาวต่างชาติเรียกว่า “ไทยแลนด์” ก็ได้บัญญัติคำไว้เพื่อฟังให้ไพเราะเสนาะหูสำหรับชาวต่างชาติไม่ต่างจากคำเรียกคนจีนว่า เจ๊ก!!! เช่นกัน
ทุกวันนี้ “ตลาดนางเลิ้ง” ซึ่งได้เคยโปรโมทเปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันแม้จะดูซบเซาไม่คึกคักอย่างแต่เก่าก่อนไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นตลาดเก่าที่มีชีวิต มีชีวิตชีวาในการค้าขายและการอนุรักษ์บ้านเรือนตัวอาคารเก่าๆ ที่สะท้อนให้เห็นร่องรอยความเจริญในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ตามแบบอย่างอิทธิพลตะวันตก ทำให้นักท่องเที่ยวคนไทยคนต่างชาติได้เห็นและถ่ายรูปกับอาคารบ้านเรือนบางที่บางแห่ง บางมุมสวยๆ ได้เก๋ๆ ตามสไตล์คนชอบความเก่าและความเก๋า และไม่ลืมที่จะแวะชิมอาหารอร่อยๆ ร้านเด็ดร้านดังย่านนางเลิ้งที่ใครต่อใครต่างพากันมารีวิวเอาไว้มากอักโข เป็นสรีตฟู้ดอย่างร้าน ส.รุ่งโรจน์ นันทาขนมไทย ขนมไทยแม่สมจิตต์ ไส้กรอปลาแนม ก๋วยเตี๋ยวเป็ดย่าง ร้านบะหมี่เกี้ยวกุ้ง นับสิบๆ ร้าน กินกันวันเดียวไม่ได้แน่!
สุดท้ายพลาดโอกาสไม่ได้ ต้องกราบขอพร “ศาลเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” รู้จักอีกหนึ่ง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในเมืองกรุง ” ศาลเสด็จเตี่ย “ กลางตลาดนางเลิ้ง ศูนย์รวมจิตใจ และ ความศรัทธา กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งราชนาวีไทย ผู้มีจิตเลี่ยมใส ศรัทธา ในศาสตร์เร้นลับ อย่างไสยเวท วิทยาคม รวมทั้ง เป็นผู้เชี่ยวชาญ ในศาสตร์แพทย์แผนโบราณจนได้มีฉายาว่า หมอพร ผู้รักษาคนไข้แบบไม่เก็บค่ารักษา จนเป็นที่พึงของชาวบ้าน และ ประชาชนทั่วไปในยุคสมัยนั้น
พื้นที่ย่านนางเลิ้ง นั้น เป็นอาณาบริเวณดั้งเดิม ของวังเลิ้งที่เสด็จเตี่ยทรงเคยประทับ ในสมัยยังทรงพระชนม์ชีพ หลังการสิ้นพระชนม์ ทายาทจึงขายวังนางเลิ้งให้กับกรมยุวชนทหารบก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2491 วังนี้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนพณิชยาการพระนคร ปัจจุบันคือคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยที่พระตำหนักใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้นั้น ถูกรื้อมาทำเป็นอาคารไปแล้ว คงเหลือแต่เพียงเรือนหมอพรและประตูวัง ที่อยู่ด้านหลังศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ซึ่งสร้างไว้เป็นที่ระลึกทางด้านหลังโรงเรียนเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มากราบไหว้แทน ผู้มีความเคารพในเสด็จเตี่ยได้เคยสร้างศาลสักการะ ขึ้นมาก่อนที่ ศาลของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศาลหลังแรกของเสด็จเตี่ย ตั้งขึ้นในจุดที่บริเวณที่เป็นปั๊มน้ำมัน ปัจจุบันข้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ต่อมาได้มีการย้ายศาลดังกล่าวไปตั้งอยู่ในบริเวณของตลาดนางเลิ้งในอดีตศาล เสด็จเตี่ยนั้นเป็นลักษณะศาลเจ้าจีน อยู่คู่กับตลาดนางเลิ้งมานานแสนนาน ซึ่งบรรพบุรุษของชาวจีนย่านเยาวราชและสำเพ็งเมื่อสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งนั้นพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พอได้กราบทูลลาออกจากทหารเรือแล้วก็ได้ศึกษาเรื่องสมุนไพรในดินแดนสยามแล้วก็ไปรักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนผู้สูงอายุย่านเยาวราชและสำเพ็งจนกระทั่งหายป่วยและแข็งแรงด้วยเหตุผลนี้ชาวจีนเมื่อครั้งกระนั้นจึงขออนุญาตเรียกพระนามว่า “เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์”
น่าไปท่องเที่ยวมาก ๆ ครับตลาดเก่าตึกโบราณอายุเกิน 100 ปีจ้า “ตลาดนางเลิ้ง” เดินเล่น เดินชิลล์ๆ สบายๆ หาของอร่อยๆ ใส่ท้อง พร้อมศึกษาเรื่องราวความเป็นมาในด้านต่างๆ สนุกสุขใจท่องเที่ยวได้ความรู้ไปด้วยครับกับ “ตลาดนางเลิ้ง” แนะนำให้ไปจอดรถยนต์ได้ที่ด้านหลังวัดโสมนัสราชวรวิหารคือโรงเรียนวัดโสมนัส ริมถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร “กินเที่ยวทั่วไทย เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ ถ้าอยากรู้ต้องออกเดินทางไป…กับ…ผมหนุ่ม-สุทน” แล้วฝากติดตามฟังรายการ “กินเที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม-สุทน รุ่งธัญรัตน์” ทางคลื่นข่าว fm 100.5 mhz ฟังเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน วัฒนธรรมและอาหารถิ่นของชุมชนได้ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น. ขอบคุณและสวัสดีครับ
พิกัด “ตลาดนางเลิ้ง”
เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม-สุทน รุ่งธัญรัตน์
แฟนเพจเฟซบุ๊ค : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/
#ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทยทางคลื่นข่าว100.5fm ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.
#ติดต่อวิทยากรด้านการท่องเที่ยวได้ที่ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ค #เที่ยวเพลิน #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน #bigmaptravel